ย้อนรอย:เมืองมักกะฮ์และมัสยิดอัลฮะรอมตอนที่ 3 ผ้าคลุมบัยตุลลอฮ์ (กิสวะฮ์)
ผ้าคลุมบัยตุลลอฮ์ (กิสวะฮ์)
“บัยตุลลอฮ์” หรือวิหารกะอ์บะฮ์สร้างด้วยหิน แต่มีกิสวะฮ์หรือผ้าสีดำคลุมอยู่ มีข้อความภาษาอาหรับปักด้วยไหมสีทองอยู่โดยรอบ เป็นผ้าที่ทอและปักมาจากโรงงานที่ผลิตผ้าคลุมบัยตุลลอฮ์โดยตรง มูลค่าทั้งหมดประมาณ 185 ล้านบาท น้ำหนักประมาณ 720 กิโลกรัม เฉพาะไหมสีเงินและสีทองที่ใช้ปักมีน้ำหนัก 120 กิโลกรัม สมัยก่อนประเทศซาอุดิอาระเบีย ผ้าคลุมบัยตุลลอฮ์มีการทออย่างประณีตแต่ราคาไม่สูงเท่านี้ และผ้าผืนใหม่จะคลุมทับผืนเก่า ซ้อนกันหลายชั้นจนกระทั่งมีน้ำหนักหมาก จึงเอาผืนเก่าด้านในออกและตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ และจ่ายแจกเพื่อเป็นของขวัญที่มีสิริมงคล
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คงจะคิดว่าข้อความตัวอักษรสีทองที่อยู่บนผ้าคลุมคือโองการจากคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ถูกเสียทั้งหมด
โปรดสังเกตผ้าคลุมกะอ์บะฮ์ด้านติดกับประตูกะอ์บะฮ์ และข้อความที่ปรากฏคือ :
“กิสวะฮ์นี้ ผลิตขึ้นในเมืองมักกะฮ์ อัลมุกัรร่อมะฮ์ และเป็นของขวัญแก่กะอ์บะฮ์ อัลมุชัรร่อฟะฮ์ จากกษัตริย์อับดุลลอฮ์ บินอับดุลอะซีซ อาลิสะอู๊ด ผู้รับใช้อัลฮะรอมอัชชะรีฟทั้งสอง ขออัลลอฮ์ทรงยอมรับจากพระองค์ ฮ.ศ.1426”
ชื่อผู้ผลิตจะเปลี่ยนไปตามสมัยของกษัตริย์ที่ปกครองในแต่ละยุค ส่วนปีฮิจเราะฮ์ศักราช ตามปีที่ผลิต (ดูภาพที่ 1 และที่ 2)
ประตูบัยตุลลอฮ์สร้างด้วยแผ่นทองคำ หนักประมาณ 300 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท บริเวณนี้บรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์มักจะไปยืนเกาะขอบประตูเพื่อขออภัยโทษและขอดุอาอ์กันเนืองแน่น เพราะมีรายงานวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า การขอดุอาอ์และขออภัยโทษที่นี่อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงตอบรับ
ที่ประตูกะอ์บะฮ์จะมีม่านสีดำ ม่านนี้บางครั้งจะเลิกออกจนเห็นประตูสีทองด้านใน ที่ม่านจะปักข้อความด้วยไหมสีทองเช่นกัน ซึ่งเป็นโองการอัลกุรอาน พระนามของอัลลอฮ์ (ซบ.) และนามของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ที่ข้อความด้านล่างจะเป็นข้อความที่แปลกออกไป นั่นคือ :
“ม่านนี้ผลิตที่เมืองมักกะฮ์ อัลมุกัรร่อมะฮ์ และเป็นของขวัญแก่กะอ์บะฮ์ อัลมุชัรร่อฟะฮ์ จากกษัตริย์อับดุลลอฮ์ บินอับดุลอะซีซ อาลิสะอู๊ด ผู้รับใช้อัลฮะรอมอัชชะรีฟทั้งสอง ขออัลลอฮ์ทรงยอมรับจากพระองค์ ฮ.ศ.1426” (ดูภาพที่ 3 และ 4)
ข้อความลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่บนผ้าคลุมบัยตุลลอฮ์ ตั้งแต่สมัยที่อับดุลอะซีซ อัลสะอู๊ดมีอำนาจปกครองประเทศซาอุดิอาระเบียแล้ว หากเราไปดูผ้าคลุมที่ทอในสมัยอับดุลอะซีซ (ค.ศ.1933) ก็จะพบข้อความดังนี้
ผ้าคลุมบัยตุลลอฮ์นี้มีการทอชื่อของกษัตริย์อับดุลอะซีซ อัลสะอู๊ดไว้ด้วย โดยมีข้อความว่า “ข้าพระองค์ผลิตผ้าคลุมที่มีสิริมงคลนี้ ในเมืองมักกะฮ์อัลมุอัฎเฎาะมะฮ์ โดยคำสั่งของผู้รับใช้อัลฮะรอมอัชชะรีฟทั้งสอง (นั่นคือ) กษัตริย์ อิมาม อับดุลอะซีซ บินอับดุรเราะฮ์มาน อัลฟัยซอล อัลสะอู๊ด...” (ดูภาพที่ 5)
โปรดสังเกตว่า มีการใช้คำว่า “อิมาม” ด้วย
ส่วนที่ม่านประตูกะอ์บะฮ์ ปรากฏข้อความลักษณะเดียวกัน (ดูภาพที่ 6)
ปัจจุบันผ้าคลุมและม่านบัยตุลลอฮ์นี้ ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในนครมักกะฮ์
นอกจากนี้ประตูกะอ์บะฮ์ที่สร้างจากทองคำ ก็ปรากฏนามของพวกเขาด้วย ดังเช่น ประตูบานปัจจุบันที่สร้างในสมัยกษัตริย์คอลิด บินอับดุลอะซีซ ก็ปรากฏชื่อของกษัตริย์คอลิด บินอับดุลอะซีซ อยู่บนบานประตู (ดูภาพ 6-1)
ปัญหาคือ ผู้รับใช้อัลฮะรอมอัชชะรีฟทั้งสอง คนแรกจากตระกูลอัลสะอู๊ด และเรียกตัวเองว่า ”อิมาม” นั้น เคยร่ำไห้วอนขอดินแดนจาก “เจ้านาย” เคยนั่งเจรจาเรื่องผลประโยชน์กับผู้อุปถัมภ์ค้ำชูทั้งสองคือนายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทั้งผู้ช่วยเหลือเกื้อกูล ให้การสนับสนุนและปกป้องประดุจดั่งไข่ในหิน โดยมีทรัพยากรน้ำมัน ปริมาณมหาศาลเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน (ดูภาพที่ 7 และ 8)
สะอู๊ดทายาทของอับดุลอะซีซ ที่เป็นกษัตริย์คนต่อมา ก็เป็นที่รู้กันว่าพฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไร เหมาะสมกับการเป็นผู้รับใช้ฮะรอมอัชชะรีฟทั้งสองหรือไม่?! (ดูภาพที่ 9)
การที่ชื่อของผู้ปกครองราชวงศ์อัลสะอู๊ด ไปปรากฏอยู่บนผ้าคลุมอาคารที่มีเกียรติและสำคัญที่สุดของอิสลาม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “บ้านของพระผู้เป็นเจ้า” เป็นสถานที่ที่เฉพาะโองการจากคัมภีร์อัลกุรอาน พระนามของอัลลอฮ์ (ซบ.) และนามของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เท่านั้นที่สมควรปรากฏอยู่a
source : alhassanain