ไทยแลนด์
Saturday 23rd of November 2024
0
نفر 0

บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนฮ์ :โองการที่ 100 บทอัตเตาบะฮ์

บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนฮ์ :โองการที่ 100 บทอัตเตาบะฮ์

 

โองการนี้กล่าวถึงชนรุ่นแรกของอิสลาม และผู้ปฏิบัติตามที่แท้จริง พร้อมกับกล่าวถึงผลรางวัลตอบแทนของพวกเขา โดยกล่าวว่า

 

وَ السّابِقُونَ الأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهاجِرينَ وَ الأَنْصارِ وَ الَّذينَ اتَّبَعُوهُمْ بِإِحْسان رَضِيَ اللّهُ عَنْهُمْ وَ رَضُوا عَنْهُ وَ أَعَدَّ لَهُمْ جَنّات تَجْري تَحْتَهَا الأَنْهارُ خالِدينَ فيها أَبَداً ذلِكَ الْفَوْزُ الْعَظيمُ

 

คำแปล :

 

100. บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮ์) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันซอรจากมะดีนะฮ์) และบรรดาผู้ดำเนิน ตามพวกเขาด้วยการทำดี อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว บรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาลนั่นคือ ชัยชนะอันใหญ่หลวง

 

คำอธิบาย :

 

บุคคลรุ่นแรกในอิสลาม

 

โองการนี้ได้กล่าวประติดประต่อกับโองการก่อนหน้านั้นกล่าวคือ อธิบายถึงสถานภาพของบรรดาผู้ปฏิเสธ และบรรดาผู้กลับกลอก (มุนาฟิกีน) ทั้งหลาย โองการข้างต้นระบุถึงกลุ่มต่างๆ จากบรรดามุสลิมก่อนหน้านั้น ซึ่งได้แบ่งพวกเขาออกเป็น 3 กลุ่ม ด้วยกัน

 

กลุ่มแรก คือ บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮ์)

 

กลุ่มที่สอง คือ ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากมะดีนะฮ์ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือท่านศาสดาและบรรดามุฮาญิรีน)

 

กลุ่มที่สามคือ บรรดาผู้ที่มาหลังจากชนสองกลุ่มแรก ซึ่งพวกเขาได้ปฏิบัติตามชนสองกลุ่มแรกอย่างดี ประกอบกับได้ประกอบคุณงามความดีเป็นผู้ช่วยเหลืออิสลามและศาสดา (ซ็อลฯ) ในเวลามต่อมา ( บรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดี )

 

จุดประสงค์ของคำว่า อิฮ์ซาน คือการอธิบายถึงการกระทำ และความเชื่อที่มีอยู่ในหมู่พวกเขา ในฐานะชนรุ่นแรกของอิสลาม หรืออาจกล่าวได้ว่า อิฮ์ซาน ในที่นี้เป็นการระบุถึง คุณลักษณะของโปรแกมต่างๆ ที่พวกเขาได้ยึดถือปฏิบัติตาม

 

 

แต่บางทีอาจเป็นไปได้ความหมายในโองการ อิฮ์ซาน เป็นการอธิบายถึงคุณลักษณะของการปฏิบัติตาม กล่าวคือ เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้เชื่อฟังปฏิบัติตามชั้นดี ดังนั้น ในกรณีแรก บาอ์ ที่ติดอยู่กับคำว่า อิฮฺซาน จึงให้ความหมายว่า ฟี (ใน) ส่วนในความหมายที่สอง ให้ความหมายว่า มะอะ (ด้วย)

 

ดังนั้น อัลกุรอานจึงได้กล่าวเน้นถึงชนทั้งสามกลุ่มว่า “อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงพอพระทัยพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย”

 

คำว่า พอพระทัย (ริฎอ)  ที่กล่าวว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงพอพระทัยพวกเขา ก็สืบเนื่องมาจากความศรัทธาและการประพฤติคุณงามความดีของพวกเขา ขณะที่พวกเขาก็พอใจในพระองค์ ก็สืบเนื่องมาจากผลรางวัลต่างๆ  ที่มีความพิเศษและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ได้มอบให้แก่พวกเขา

 

อีกนัยหนึ่ง สิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ พวกเขาได้กระทำจนหมดสิ้น และสิ่งที่พวกเขาปรารถนาจากพระเจ้า พระองค์ก็ทรงประทานให้แก่พวกเขา ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์

 

ด้วยประโยคที่ผ่านมาจะเห็นว่า โองการได้โอบอุ้มเอาความเมตตาและความโปรดปรานทั้งหมดเอาไว้ (ความโปรดปรานทั้งวัตถุปัจจัย จิตวิญญาณ และกายภาพ) แต่ในฐานะที่ต้องการเน้นย้ำ และอธิบายโดยละเอียดหลังจากได้อธิบายโดยรวมอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงเสริมว่า “พระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว บรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง”

 

ความพิเศษของความโปรดปรานดังกล่าวคือ เป็นนิรันดร และจะอยู่ร่วมกับพวกเขาตลอดไป “พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล”  ฉะนั้น ประมวลความโปรดปรานทั้งหมดทั้งด้านจิตวิญญาณและวัตถุปัจจัย ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขา “นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง ” จะมีชัยชนะใดที่ยิ่งใหญ่และดีไปกว่านี้อีก ในความรู้สึกที่สัมผัสได้ว่า พระผู้ทรงสร้างพวกเขา ผู้ทรงคู่ควรต่อการเคารพภักดี ผู้เป็นนาย มีความพึงพอพระทัยในพวกเขา ทรงลงลายเซ็นกำกับใบรับรองการกระทำที่ถูกตอบรับของพวกเขา

 

จะมีชัยชนะใดที่สูงส่งไปกว่านี้อีก ซึ่งพวกเขาได้ปฏิบัติในช่วงเวลาอันจำกัดเพียงไม่กี่วันของชีวิตที่สั้นเพียงน้อยนิดและมีการจบสิ้น แต่กลับได้รับรางวัลตอบแทนอันเป็นอมตะนิรันดรตลอดไป

 

และอาจเป็นไปได้เช่นกันที่ว่า สาเหตุที่อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงพึงพอพระทัยในพวกเขา ก็สืบเนื่องจากการเข้ารับอิสลามของพวกเขา และความพอใจของพวกเขา ก็สืบเนืองจากว่า พวกเขาได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากวัฒนธรรมอันเลวร้าย สภาพสังคมที่ย่ำแย่ การกดขี่ และความโง่เขลาไปสู่ความสูงส่งและอำนาจอันยิ่งใหญ่นั่นเอง

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. โองการได้กล่าวว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงพึงพอพระทัยบรรดาผู้อพยพรุ่นแรก ผู้ให้ความช่วยเหลือท่านศาสดา และบรรดาผู้เชื่อฟังปฏิบัติตาม เนื่องจากพวกเขามีศรัทธาและประกอบคุณงามความดี

 

2. โองการกล่าวว่าบรรดาผู้อพยพ ผู้ให้การช่วยเหลือ และผู้เชื่อฟังปฏิบัติตาม ต่างพอใจในอัลลอฮฺ อันเนื่องจากไม่ว่าสิ่งใดที่พวกเขามีความต้องการ พระองค์จะทรงประทานให้พวกเขา

 

3. บรรดาผู้อพยพและผู้ให้การช่วยเหลือคือ ผู้ปฏิวัติรุ่นแรกของอิสลามพร้อมกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ครั้นเมื่อท่านศาสดาต้องถูกปิดล้อมโดยพวกมุชริกชาวมักกะฮฺ ท่านต้องถูกโดดเดี่ยวและตกอยู่ในอันตราย พวกเขาได้ให้ความช่วยเหลืออย่างดี บรรดาผู้อพยพรุ่นแรกต่างต้องทนทุกข์ทรมานร่วมกับศาสดา (ซ็อลฯ) พวกเขาได้อยู่ร่วมกับท่านศาสดาด้วยความรักและความอาลัย พวกเขาได้ละทิ้งญาติพี่น้องและครอบครัว อพยพไปพร้อมกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยังเมืองมะดีนะฮ์ ชณะที่ชาวอันศอรได้ให้การต้อนรับท่านศาสดาและพวกอพยพรุ่นแรกอย่างดี พวกเขาได้ให้สถานที่พักพิงและอาหาร ที่สำคัญพวกเขาได้ปกป้องท่านศาสดาสุดกำลังความสามารถที่มีอยู่

 

4. ตาบิอีนหมายถึงใคร

 

 จุดประสงค์ของตาบิอีน หมายถึง ชนทุกกลุ่ม ที่อยู่ในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หรือยอมรับอิสลามหลังจากนั้น ได้อพยพและให้ความช่วยเหลือหรือสถานที่พักพิงแก่ผู้อพยพ อีกทั้งได้ปกป้องอิสลาม เชื่อฟังและปฏิบัติตามหลักคำสอนของอิสลามโดยเคร่งครัด อีกนัยหนึ่ง ปัญหาเรื่องการอพยพ การให้ความช่วยเหลือ และการเชื่อฟังปฏิบัติตาม มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่สมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และเหล่าสหาย (ศอฮาบะฮ์) เพียงเท่านั้น ทว่าความหมายดังกล่าวนั้น วันนี้เข้าใจได้ในรูปลักษณะอื่น และในอนาคตก็มีเช่นเดียวกัน ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่ดำรงตนอยู่ในแนวทางของพวกเขา ถือว่าเป็นตาบิอีนทั้งสิ้น

 

สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากพิจารณาจะเห็นว่าอัลกุรอานได้ใช้คำว่า (อิฮ์ซาน) เพื่อเป็นการเน้นในเรื่องการปฏิบัติตามชนก่อนหน้านั้นในอิสลาม ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่คำพูด หรือความเชื่อที่ปราศจากการปฏิบัติ ทว่าเป็นการเชื่อฟังปฏิบัติตามในทุกรูปแบบทั้งความคิด การกระทำ และคำพูด

 

5. มุสลิมคนแรกเป็นใคร

 

เกี่ยวกับที่กล่าวว่า ชนรุ่นแรกที่สุดของอิสลามเป็นใครนั้น บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้ลงความเห็นว่า สตรีที่เป็นมุสลิมคนแรกคือ ท่านหญิงคอดีญะฮ์ ภรรยาผู้เสียสละและเป็นสุดที่รักยิ่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ส่วนบุรุษคนแรกที่เป็นมุสลิมคือ ท่านอิมามอะลี (อ.) เช่น ประโยคที่กล่าวไว้โดย ฮากิม เนะชาบูรีย์ (หนังสือมะอ์ริฟะฮ์ อุลูมฮะดีษ หน้า 22, 23 )โดยกล่าวว่า

 

لاأَعْلَمُ خِلافاً بَيْنَ أَصْحابِ التَّوارِيْخِ أَنَّ عَلِىَّ بْنِ أَبِى طالِب رَضِىَ اللّهُ عَنْهُ أَوَّلُهُمْ إِسْلاماً وَ إِنَّمَا اخْتَلَفُوا فِى بُلُوغِهِ

 

ฉันไม่เห็นว่าจะมีความขัดแย้งกันในหมู่นักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวที่ว่า อะลี บุตรของอบีฏอลิบคือ บุรุษคนแรกที่เข้ารับอิสลาม แต่มีความขัดแย้งกันเรื่องอายุของเขาขณะเข้ารับอิสลาม [1]

 

มีคำกล่าวว่า นักปราชญ์ฝ่ายอะฮ์ลิซุนนะฮ์ ได้บันทึกรายงานที่มาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่กล่าวว่า :  

 

أَوَّلُكُمْ وارِداً عَلَىَّ الْحَوْضَ أَوَّلُكُمْ إسْلاماً، عَلِىُّ بْنِ أَبِى طالِب

 

“บุคคลแรกที่จะเข้ามาหาฉัน ณ สระน้ำเกาซัร คือเป็นบุคคลแรกในหมู่พวกท่านที่เข้ารับอิสลลาม เขาคือ อะลี บุตรของ อบีฏอลิบ”[2

 

นักปราชญ์ฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ได้บันทึกรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า 

 

إِنَّ هذا أَوَّلُ مَنْ آمَنَ بِى وَ هُوَ أَوَّلُ مَنْ يُصافِحُنِى وَ هُوَ الصِّدِّيْقُ الأَكْبَرُ

 

 “แท้จริงบุคคลแรกที่ได้มีศรัทธาต่อฉัน เขาคือบุคคลแรกที่จะพบกับฉันในวันกิยามะฮ์ และเขาคือผู้สัจจะที่ยิ่งใหญ่”[3]

 

6. บรรดาสาวกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือ บ่าวผู้เป็นกัลญาณชนทุกคนหรือ ?

 

บรรดานักปราชญ์ฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ต่างเชื่อว่า สาวกของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทุกคน เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นคนดีคู่ควรต่อการเป็นชาวสวรรค์

 

นักตัฟซีรฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ส่วนใหญ่ จะอ้างอิงถึงฮะดีษบทนี้ในการอธิบายโองการดังกล่าวข้างต้น ฮะดีษกล่าวว่า ฮะมีด บุตรของซิยาด กล่าวว่า  ฉันได้ไปหาท่านมุฮัมมัด บิน กะอ์บ์ กุรซีย์ และกล่าวกับเขาว่า ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับศอฮาบะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เขากล่าวว่า 

 

جَمِيْعُ أَصْحابِ رَسُولِ اللّهِ (صلى الله عليه وآله) فِى الْجَنَّةِ مُحْسِنُهُمْ وَ مُسِيْئُهُم

 

“ศอฮาบะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทุกท่านล้วนเป็นชาวสวรรค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือไม่ก็ตาม”

 

ฉันพูดว่า ท่านไปเอาคำพูดนี้มาจากที่ไหน

 

เขากล่าวว่า ท่านไม่ได้อ่านโองการนี้ดอกหรือ “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮ์) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากมะดีนะฮ์)” จนกระทั่งถึงประโยคที่ว่า “อัลลอฮ์ทรงพึงพอพระทัยพวกเขา และพวกเขาก็พอใจพระองค์ด้วย”

 

หลังจากนั้นกล่าวว่า ส่วนตาบิอีนนั้นได้มีเงื่อนไขกำกับไว้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามการงานที่ดีของเหล่าเซาะฮาบะฮฺ (ในกรณีนี้เท่านั้นจึงจะได้เป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ แต่สำหรับเซาะฮาบะฮฺไม่ได้มีเงื่อนไขอันใดกำกับไว้

 

แต่คำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย เช่น

 

1.ประการแรก โองการข้างต้นได้กล่าวถึงเงื่อนไขว่า (อิฮ์ซาน) การทำความดี ซึ่งกล่าวถึงบรรดาตาบิอีน หมายถึงบรรดาตาบิอีน ได้ยึดถือปฏิบัติตามการกระทำอันดีงามของชนผู้อพยพรุ่นแรก (มุฮาญิรีน) และผู้ให้ความช่วยเหลือ (อันศอร) ด้วยเหตุนี้  เงื่อนไขดังกล่าวนี้ ต้องเป็นเงือนไขสำหรับชาวมุฮาญิรีนและอันศอรก่อนเป็นสำคัญ

 

ส่วนฮะดีษที่รายงานโดย มุฮัมมัด บิน กะอ์บ์ ได้ตอบข้อสงสัยของประเด็นดังกล่าวแล้วว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ ) ทรงวางเงื่อนไข อิฮ์ซาน ไว้สำหรับตาบิอีน หมายถึง จงปฏิบัติตามความดีงามและสิ่งถูกต้องจากบรรดาศอฮาบะฮ์ ไม่ใช่ปฏิบัติตามบาปกรรมหรือสิ่งไม่ได้จากพวกเขา นับว่าเป็นคำพูดที่ประหลาดอย่างยิ่ง

 

เนื่องจากความเข้าใจที่ได้จากรายงานคือ การเพิ่ม (อิฎอฟี) สิ่งที่เป็นปลีกย่อยไปบนสิ่งที่เป็นหลัก เพราะเงื่อนไขที่จะช่วยบรรดาตาบิอีนให้รอดพ้นคือ การเชื่อฟังปฏิบัติตามเหล่าบรรดาสาวก โดยเฉพาะในเรื่องความดีงามของพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่า เงื่อนไขนี้จำเป็นต้องมีอยู่ในหมู่สาวกเสียก่อน

 

อีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่า อัลลอฮ์ (ซบ.) ตรัสว่า ความพึงพอพระทัยของพระองค์ครอบคลุมเหนือบรรดาผู้อพยพในรุ่นแรก และผู้ให้ความช่วยเหลือทุกคน ซึ่งพวกเขามีโปรแกรมที่ถูกต้อง บรรดาตาบิอีนจึงต้องปฏิบัติตามพวกเขา ไม่ได้หมายถึงว่า บรรดาผู้อพยพและผู้ให้ความช่วยเหลือในรุ่นแรก ไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตามล้วนได้รับความพึงพอพระทัยจากพระองค์ทั้งสิ้น แต่ส่วนตาบิอีนนั้นต้องมีเงื่อนไขอันเฉพาะดังกล่าวไปแล้ว

 

2.ประการที่สอง อัลกุรอาน กล่าวถึงบรรดาพวกกลับกลอก (มุนาฟิกีน) หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งดูภายนอกพวกเขาคือมุสลิมที่ให้ความช่วยเหลือท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นอย่างดี แต่ภายในของพวกเขามีแต่ความกลับกลอก อัลกุรอานบทนี้เองที่กล่าวถึงกลุ่มชนที่เป็นพวกกลับกลอกไว้อย่างมากมาย ซึ่งโองการหลังจากนี้ก็ยังกล่าวถึงอีก ฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เหล่าบรรดาสาวกทั้งหมดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากบาปและเป็นชาวสวรรค์ทุกคน ประกอบกับเหตุผลดังกล่าวไม่เข้ากันกับสติปัญญาแม้แต่น้อย เนื่องจากสติปัญญาจะไม่ให้ความพิเศษแก่เหล่าสาวกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่ามีความพิเศษเหนือคนอื่น เพราะมีความแตกต่างอย่างไรระหว่าง อบูญะฮัล กับบุคคลที่ตอนแรกมีศรัทธามั่นคง หลังจากนั้นได้หันเหออกจากศาสนาของศาสดา

และเป็นเพราะสาเหตุใดที่บุคคลหนึ่งหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อำลาจากโลกไปนานหลายปีแล้ว เขาได้เกิดมาบนโลกนี้ พร้อมกับเสียสละอย่างมากมาย ประกอบกับได้ต่อสู้ในหนทางของพระเจ้าและอิสลาม ซึ่งผลงานของเขาไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าสาวกรุ่นแรกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แม้แต่น้อยนิด ทว่าพวกเขามีความพิเศษกว่าเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเห็นท่านศาสดา แต่กลับมีศรัทธามั่นกับท่าน แต่พวกเขากับไม่มีส่วนร่วมในความเมตตา และความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์

 

อัลกุรอาน กล่าวว่า “บุคคลที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกท่าน ณ อัลลอฮ์ คือ บุคคลที่สำรวมตนมากที่สุด” เมื่อเป็นเช่นนั้นจะให้ยอมรับการแบ่งชนชั้นชนิดไม่มีเหตุผลได้อย่างไร

 

ขณะที่อัลกุรอาน โองการต่างๆ ได้สาปแช่งกลุ่มชนที่กดขี่ ประพฤติชั่วร้าย และก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน ซึ่งบุคคลเหล่านั้นย่อมได้รับการลงโทษจากพระเจ้าอย่างแน่นอน ฉะนั้น เราจะยอมรับความบริสุทธิ์ของเหล่าสาวกบางคนชนิดไม่มีเหตุผล ต่อหน้าการลงโทษของพระเจ้าได้อย่างไร

 

หรือจะยอมรับชนิดเสียไม่ได้ว่าการสาปแช่งเหล่านี้ และการขู่บังคับต่างๆ ในอัลกุรอาน ได้รับการยกเว้นในบางกรณีสำหรับกลุ่มชนอันเฉพาะเจาะจงพิเศษ และทำไม่ต้องเป็นเช่นนั้น เพื่ออะไรหรือ

 

3. ประการที่สาม สิ่งที่บรรดานักประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า สาวกบางคนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หลังจากท่านศาสดาได้อำลาจากโลกไปพวกเขาได้ตกศาสนา หรือหันเหออกไปจากสัจธรรมความจริง และบางคนในหมู่พวกเขาได้ก่อสงครามสู้รบกับท่านอะลี (อ.) คอลีฟะฮ์คนที่สี่แห่งโลกอิสลาม

 

เช่น เรื่องราวของ ซะอ์ละบะฮ์ บิน ฮาฏิบ อันศอรีย์ เรามิได้อ่านประวัติศาสตร์ดอกหรือว่า เขาหลงทางไปอย่างไร จนได้รับความโกรธกริ้วอย่างรุนแรงจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

 

หรืออาจกล่าวให้ชัดเจนไปกว่านั้นก็คือ จุดประสงค์ของบางกลุ่มก็คือ บรรดาสาวกของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยทั่วไปแล้วไม่กระทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากความผิดทั้งปวง และสิ่งนี้ก็คือการปฏิเสธความจริงที่ประจักษ์แจ้ง

 

หรือถ้าจุดประสงค์คือ บุคคลที่ได้กระทำความผิดและประพฤติในสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักคำสอน แต่อัลลอฮฺ (ซ.บ) ก็ยังทรงพึงพอพระทัยในพวกเขา ความหมายก็คือ พระเจ้าทรงพึงพอพระทัยให้บ่าวกระทำความผิดนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะมีสาวกผู้ยิ่งใหญ่เฉกเช่น ท่านอะลี (อ.) ท่านอบูบักร์ ท่านอุมัร ท่านอบูซัร ซัลมาน อัมมาร และฯลฯ ท่านก็ยังมีสาวกที่เป็นพวกสับปลับและกลับกลอก และหลงทางออกไปเช่นกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มของพวกเขาก็จะถูกตัดสินไปตามการกระทำและความเชื่อของพวกเขา

 

7. จุดประสงค์ของ ผู้อพยพรุ่นแรกจากมุฮาญิรีนและอันศอรเป็นใคร

 

มีทัศนะมากมายเกี่ยวกับผู้อพยพนุ่นแรก เช่น บางทัศนะกล่าวว่าหมายถึง

 

1.กลุ่มแรกที่อพยพไปยังเมือง ฮะบะชะฮ์ (เอธิโอเปีย) มีญะอ์ฟัร บิน อะบีฏอลิบเป็นหัวหน้า ส่วนอันศอรรุ่นแรกคือ ชาวมะดีนะฮ์กลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เรียกว่า บัยอะตุลอุกบะฮ์ อัลเอาวัล

 

2. ผู้อพยพรุ่นแรก หมายถึง กลุ่มชนที่ก่อนที่ศาสดา (ซ็อลฯ) จะเข้ามะดีนะฮ์ ได้เดินทางไปที่นั่น ส่วนอันศอรรุ่นแรกคือ กลุ่มชนที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพเหล่านี้

 

3. ผู้อพยพรุ่นแรก หมายถึง กลุ่มชนที่อพยพไปพร้อมกับศาสดาในช่วงปีแรกไปยังเมืองมะดีนะฮ์ ส่วนอันศอรรุ่นแรก คือ กลุ่มชนที่ให้การสนับสนุนท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกลุ่มผู้อพยพ

 

4. ผู้อพยพรุ่นแรก หมายถึง กลุ่มชนที่อพยพก่อนเกิดสงครามอะฮ์ซาบ ซึ่งช่วงนั้นแห้งแล้งมาก ส่วนอันศอรรุ่นแรก คือ กลุ่มชนที่ปกป้องชนอพยพกลุ่มนี้

 

5. ผู้อพยพรุ่นแรก หมายถึง กลุ่มชนที่ได้อพยพก่อนที่จะยึดครองมักกะฮ์ ส่วนอันศอรรุ่นแรก คือ กลุ่มชนที่ได้ช่วยเหลือและปกป้องพวกเขามาจนถึงบัดนั้น

 

6. ผู้อพยพรุ่นแรก หมายถึง กลุ่มชนที่ได้อพยพก่อนที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะอำลาจากไป ส่วนอันซอรรุ่นแรกคือ กลุ่มชนที่ได้ปกป้องพวกเขามาจนจวบจนถึงขณะนั้น

 

7.ตัฟซีรรุวาอีย์ บางเล่มกล่าวว่า จุดประสงค์ของผู้อพยพรุ่นแรกจากบรรดาผู้อพยพและอันศอร หมายถึง กลุ่มชนที่มีศรัทธามั่นและยืนหยัดความความศรัทธาของพวกเขา พร้อมกับยึดมั่นในวิลายะฮ์ของอิมามอะลี (อ.) หลังจากท่านศาสดาได้อำลาจากไป

 

 

เชิงอรรถ


[1] ตัฟซีร กุรฏุบีย์ เล่ม 5 หน้า 3075, บิฮารุลอันวาร เล่ม 38 หน้า 235 (ใจความแตกต่างกันเล็กน้อย), อันมะนากิบ เล่ม 2 หน้า 11 (ใจความแตกต่างกันเล็กน้อย) มะอ์ริฟะฮฺ อุลูมฮะดีซ หน้า 22,23 (ดารุลอาฟาก อัลญะดีดะฮฺ เบรุต  ฮ.ศ. 1400 พิมพ์ ครั้งที่ 4)

 

[2]  คัดลอกมาจากหนังสือ อัลเฆาะดีร เล่ม 3 หน้า 21, 220 ดารุลกิตาบ อัลอะรอบี พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 1397 สุริยคติ , มุสตัดร็อกฮากิม เล่ม 2 หน้า 136, เล่ม 3 หน้า 147 สำนักพิมพ์ อัลกุตุบ อัลอะละมียะฮ์ เบรุต ฮ.ศ. 1411 พิมพ์ครั้งแรก, อิสตีอาบ เล่ม 2 หน้า 457 , เล่ม 3 หน้า 1091 ดารุลญะบัล เบรุต พิมพ์ครั้งแรก ปี ฮ.ศ. 1412, ชะฮ์นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ อิบนุอะบิลฮะดีด เล่ม 3 หน้า 258, เล่ม 13 หน้า 229

 

[3]เฆาะดีร เล่ม 2 หน้า 313, เล่ม 3 หน้า 21,ดารุลกิตาบ อัลอะรอบียะฮ์ พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 1379 สุรยคติ, ฮะดีษบทดังกล่าว ได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฏ็อบรอนีย์ บัยฮะกีย์ ฮัยซัมมีย์ มัจญ์มะอุลบะยาน ฮาฟิซกันญีย์ , และบันทึกอยู่ในหนังสือ กิฟายะฮ์ อิกมาล กันซุลอุมมาล เล่ม 11 หน้า 616 สำนักพิมพ์ อัรริซาละฮ์ เบรูต

 

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ชื่อและสายตระกูลของซุฟยานี
มุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ...
ซากีนะฮ์(อ.) ...
ความสำคัญของเพื่อนบ้าน
...
ที่มาของตัฟซีรอัลกุรอานของ ...
...
...
ฆอดีรคุม ...
ชีวิตคู่ในอิสลาม

 
user comment