ไทยแลนด์
Wednesday 6th of November 2024
0
نفر 0

การอิศละฮ์ในวิถีชีวิตของอิมามฮุเซน (อ)

การอิศละฮ์ในวิถีชีวิตของอิมามฮุเซน (อ)

การ “อิศละฮ์ คือ อะไร?

 

การอิศละฮ์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือเอาผู้นำที่ชั่วออกไป โดยโค่นล้มผู้นำนั้นลง ทว่าบางครั้งเมื่อโค่นล้มผู้นำที่ชั่วร้ายนั้นได้แล้ว และมีผู้นำคนใหม่ขึ้นปกครองแทนก็เป็นคนชั่วร้ายเช่นกัน นั่นเพราะว่ามวลมนุษย์ยังไม่ถูกอิศละฮ์

 

ดังนั้น การที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า อิศละฮ์อุมมัต (ประชาชาติ) ทั้งหมด แน่นอนว่า ย่อมมีเนื้อหาและเป้าหมายที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่โค่นล้มยาซีดเท่านั้น แต่ต้องการจะสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของการโค่นล้มยาซีด และทุกคนที่เหมือนยาซีด !

 

ปัญหาที่ทำให้คนแบบมุอาวียะฮ์หรือยาซีดได้ขึ้นปกครอง ก็เพราะสังคม และอุมมัตต่างหาก ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนสภาพอันตกต่ำของอุมมัตเสียก่อน และ หนึ่งในเป้าหมายของการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ก็คือ การอิศละฮ์อุมมัตของศาสดามุฮัมมัด (ซล.)

 

 

ขั้นตอนของการ “อิศละฮ์”

 

ขั้นตอนการอิศละฮ อุลามาอ์สายอัคลาก (นักการศาสนาทางจริยศาสตร์) บอกว่า การอิศละฮ์ นั้นมีด้วยกันสามขั้นตอน

 

ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ อิศละฮ์ ‘ตัวเอง’

 

‘เงื่อนไข’ ในความสำเร็จ คือ มนุษย์จะต้องอิศละฮ์ ‘ตัวเอง’ เสียก่อน ศาสนาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โองการต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอานซึ่งมีพระดำรัสว่า…

 

یا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ عَلَيْكُمْ أَنفُسَكُمْ

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย หน้าที่สำหรับเจ้า คือตัวเจ้าเอง” (ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 105)

 

ก้าวที่หนึ่งมนุษย์ คือจะต้องอิศละฮ์ตัวเองก่อน ไม่ใช่ว่าเก่งแต่สอนคนอื่น เก่งแต่ประณามคนอื่นๆ โดยไม่ได้พิจารณาตัวเองเลยว่าเราเองนั้นดีพอแค่ไหน และอิสละฮ์แค่ไหนแล้ว ไม่ใช่เป็นคนหาตำหนิเพื่อนได้เก่งแล้ว จะได้รับการเยินยอสรรเสริญ มุมมองของอิสลามนั้น ถือว่าบุคคลเหล่านี้ลืมตัวเอง และใครก็ตามที่ลืมตัวเอง คนๆ นั้น ก็ย่อมลืมพระองค์

อัลลอฮ์ (ซบ.)

 

บางคนทำตนเป็น ‘นักอิศละฮ์’ แต่ตัวเองยังไม่ปฏิบัตินมาซ เป็นต้น การอิศละฮ์ตัวเองคือทำหน้าที่ให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ พฤติกรรมต่างๆ จะต้องเป็นบุคคลที่จัดอยู่ในขั้นที่ผ่านการอิศละฮ์ เพราะถ้าไม่คิดจะทำการอิศละฮ์ ก็จะตรงกับโองการที่ 44 ในซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ ที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

أَتَأْمُرُونَ النَّاسَ بِالْبِرِّ وَتَنسَوْنَ أَنفُسَكُم

 

“พวกเจ้าใช้ให้ผู้คนกระทำความดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวของพวกเจ้าเองกระนั้นหรือ?”

 

คือ กำชับคนอื่นในเรื่องความดี แต่ตัวเองนั้นไม่ทำ ดังนั้นประการแรก ไม่ต้องสอนผู้ใด หรือตำหนิผู้ใด แต่ให้ตำหนิตัวเองเสียก่อน ตำหนิตัวเองให้สมบูรณ์ สนใจตัวเองก่อน ว่าเราดพอแล้วหรือยัง ในทุกๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็น กิริยา มารยาท นิสัย อะไรต่างๆ ของเราทั้งหมด ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน แม้แต่บรรดาศาสดาก็ต้องทำสิ่งนี้ก่อน ทั้งๆ ที่เกิดมาก็เป็นศาสดาแล้ว แต่ยังไม่ถูกอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ก่อน “อิศละฮ์” ตัวเอง

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล.) เป็น ‘นูร’ ทว่าพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ก็ยังไม่ให้ประกาศสาส์นใดๆ จนกว่าจะผ่านการอิศละฮเสียก่อน ต้องถูกส่งไปในถ้ำหิรอ และอิศละฮ ตัวเองทุกเรื่องเสียก่อน ปราศจากการอิศละฮ์ มนุษย์จะไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ได้

 

 

พี่น้องครับ !! ถ้าเป็นสามีก็ต้องเป็นสามีที่ดี ถ้าเป็นภรรยาก็จะต้องเป็นภรรยาที่ดี ลูกๆ ก็เช่นกัน ต้องอิศละฮ์ตัวเองตามแนวทางอิสลาม ถ้าเป็นบุคคลในสังคมก็ต้องอิศละฮ์ตัวเอง

จะต้องไม่เป็นบุคคลที่ทำลายสังคม

 

หนึ่งในนิยามของมุสลิม ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ได้ถามกับบรรดาศอฮาบะฮ์ว่า มุสลิมคืออะไร? แต่ละคนก็ให้นิยามแต่ละแบบแต่ละอย่างตามความเข้าใจ แต่ไม่ตรงกับที่ศาสดามุฮัมมัด (ซล.) จะสอนสั่ง

 

เพราะท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ต้องการสอนว่า…

 

มุสลิมคือ “บุคคลที่มุสลิมจะต้องปลอดภัยจากการกระทำและคำพูดของเขา” ก็คือ มุสลิมจะไม่ด่าทอพี่น้องมุสลิม มุสลิมจะไม่พูดจาให้ร้ายพี่น้องมุสลิม ไม่ฟิตนะฮ์พี่น้องมุสลิม และถ้าเรายังดำเนินชีวิตโดยมีคนต้องเจ็บปวดกับการกระทำและคำพูดของเรา นั่นแสดงว่าเรายังไม่อิศละฮ์ตัวเอง ซึ่งแน่นอนจะไม่สามารถไปอิศละฮ์คนอื่นได้ ดังนั้น จงอย่าเป็นดั่งคนที่เชิญชวนมนุษย์สู่ความดี แต่กลับลืมตัวเองเด็ดขาด

 

นี่คือ เป้าหมายที่ข้าพเจ้าประสงค์จะบอก ว่า หนึ่งคำ…หนึ่งประโยค..หนึ่ง วาทกรรม…ในกัรบาลา ล้วนเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียน สำหรับมนุษย์ชาติอย่างมากมาย!!เมื่อมนุษย์ผ่านขั้นตอนการอิศละฮ์ตัวเองแล้ว มนุษย์ก็จะมีความเข้มแข็งพอ ไม่เป็นเหยื่อของสิ่งใดแล้ว นั่นจึงเข้าสู่ขั้นตอนอิศละฮ์ ขั้นที่สอง จงลองตรองดูว่า อิสลามมีความละเอียดอ่อนสักเพียงใด? …ถ้าคนไม่ผ่านการปฏิวัติตัวเองมาก่อน ก็จงอย่าได้หมายปฏิวัติสังคม!

 

ขั้นตอนที่สอง คือ ‘อิศละฮ์ครอบครัว’

 

หลังจากโองการ

 

 ‘یا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ عَلَيْكُمْ أَنفُسَكُمْ

 

ก็มีโองการ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา (งานอิศละฮเป็นงานของผู้ศรัทธา) จงปกป้องตัวของเจ้า และครอบครัวของเจ้าให้พ้นจากไฟนรก”

(ซูเราะฮ์อัตตะฮ์รีม โองการที่ 6)

 

มีผู้รู้บางคนสอนคนทั้งประเทศ แต่ที่บ้านไฟไหม้หลังบ้านเขาไม่ดับ มีบางคนมามัจญลิสไม่เคยขาด แต่ที่บ้านลูกปฏิบัตินมาซครบหรือไม่ ลูกสวมใส่ฮิญาบแล้วหรือยัง เขาไม่ได้สนใจในเรื่องเหล่านี้แต่อย่างใด

 

บุคคลเหล่านี้ ไม่สามารถเป็นนักอิศละฮได้ หากปราศจากอิศละฮ์ตัวเอง อิศละฮ์ตัวเองยังไม่สำเร็จ จะไปอิศละฮคนอื่นไม่ได้ เพราะอัลลอฮ์ (ซบ”) จะทรงเอาเรื่องกับบุคคลเหล่านี้ที่เกี่ยวกับตัวของพวกเขาก่อน

 

แต่ถ้าอิศละฮ์ตัวเองแล้ว ก็สามารถอิศละฮ์คนอื่นได้อย่างสุดความสามารถของเขา ถ้าอิศละฮลูกเมียจนสุดความสามารถแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น นั่นหมายถึงหมดหน้าที่ของเขาแล้ว และมนุษย์ที่ไม่ได้ทำสิ่งนี้ นั่นคือมนุษย์ที่ขาดทุนที่สุด อัลกุรอานได้ยืนยันในเรื่องนี้ คำดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้อธิบายไว้อย่างชัดแจ้งว่า…

 

قُلْ إِنَّ الْخَاسِرِينَ الَّذِينَ خَسِرُوا أَنفُسَهُمْ وَأَهْلِيهِمْ

 

“โอ้ มุฮัมมัด จงบอกกับประชาชาติ ว่าคนที่ขาดทุนที่สุด คือ คนที่ตัวเขาขาดทุน และครอบครัวเขาก็ขาดทุน”

 

(ซูเราะฮ์อัซซุมัร โองการที่ 15)

 

บุคคลที่อยู่บนโลกนี้แล้วไม่ได้อิศละฮ์ตัวเอง บุคคลที่อยู่บนโลกนี้แล้วไม่ได้อิศละฮครอบครัวของเขา คือบุคคลที่ขาดทุนที่สุด แน่นอนว่าการส่งลูกเรียนมหาลัยนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาอิศละฮ์ครอบครัวแล้ว หากแต่การที่ลูกเคร่งครัดในศาสนา ลูกมีอุดมการณ์ ภรรยามีอุดมการณ์อิสลามต่างหาก นั่นคือ การอิศละฮครอบครัว

 

    ถ้าเราเข้ามาพิจารณาในวีรชนแห่งกัรบาลาก็จะพบว่า บุคคลเหล่านี้ทั้งหมด คือ บุคคลที่ผ่านสองขั้นตอนนี้ วีรชนกัรบาลาเป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์ ทุกคนผ่านการอิศละฮ์ขั้นตอนที่สอง

 

    เราจะต้องเข้าไปศึกษาวาทกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากเด็กเล็กๆ หรือผู้หญิง เพราะวาทกรรมที่มาจากบุคคลเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า พวกเขาผ่านการอิศละฮ์ที่สมบูรณ์แบบแล้ว

    ตัวของเขาก็อิศละฮ์แล้ว ครอบครัวของเขาก็อิศละฮ์แล้ว

 

มีตัวอย่างมากมาย และไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ในครอบครัวของวีรชนแห่งกัรบาลา ถ้าเราพิจารณาว่า ทำไมเด็กคนนี้พูดได้ขนาดนี้ ทำไมภรรยาเขาพูดได้ขนาดนี้ นั่นก็เพราะ ครอบครัวนั้นผ่านการอิศละฮ์แล้ว คือจะต้องถ่ายทอดอุดมการณ์อันนี้สู่ครอบครัว

 

มารดาคนหนึ่งเมื่อเสียสามีไปเป็นชะฮีดแล้ว ก็ได้ส่งลูกไปสู่อุดมการณ์เดียวกับพ่อ เด็กคนหนึ่งจะออกไปร่วมรบกับอิมามฮุเซน (อ.) ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ไม่อนุญาต แต่เขาก็ยืนยันที่จะออกไป กระทั่งอิมามฮุเซน (อ.) ได้ถามว่า “ความตาย ในทัศนะของเจ้าเป็นเช่นไร?”เขาได้ตอบว่า “โอ้เมาลา ความตายในทัศนะของฉัน หอมหวานกว่าน้ำผึ้งเสียอีก!!”

เด็กอายุเพียงแปดขวบหรือเจ็ดขวบ ทำไมถึงพูดสิ่งนี้ได้?? นั่นก็เพราะเขาถูกปลูกฝังในครอบครัวของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไม่ใช่ จู่ๆ ก็มีอีมานที่กัรบาลา!! ทว่าวิถีชีวิตที่ขัดเกลาต่างหากที่นำเขาไปสู่กัรบาลา… ไม่มีใครได้ ‘แจ็กพ็อต’ ที่กัรบาลา!!

 

อาจมีบางคนมีชีวิตที่ผิดพลาดมาก่อน แล้วก็มากัรบาลา หรืออาจจะมีข้อด้อย แล้วถูกเติมเต็มที่กัรบาลา เช่น ท่าน ‘ฮูร’ ซึ่งเป็นนายทหารของยาซีด โดยส่วนตัวไม่ใช่คนชั่ว เป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนา แต่ได้เติบโตมาภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อของบนีอุมัยยะฮ์ พอได้ยินเสียงอาซาน ‘ฮูร’ ลงจากหลังม้าทันที และไปนมาซกับอิมามฮุเซน (อ.)ความผิดพลาดของฮูร คือ ถูกหลอกในเรื่องการเมือง เรื่องเดียวที่ยังไม่เข้าใจคือการเมือง ส่วนเรื่องอื่นๆ ฮูรเป็นคนที่อิศละฮ์ในทุกเรื่อง เมื่อพบอิมามฮุเซน (อ.) จึงได้ถูกเติมเต็ม “จากนายพลของยาซีดกลายมาเป็นชะฮีดคนแรกของกัรบาลา”

 

หญิงชราคนหนึ่ง เมื่อศรีษะของลูกตนเอง ถูกตัดและถูกโยนกลับส่งมาให้กับนาง และนางก็ได้หยิบศรีษะนั้นของลูกขึ้นมาเช็ดศรีษะลูกชายจนสะอาด แล้วโยนกลับไป และพูดว่า “อะไรที่ฉันพลีเพื่ออัลลอฮ์ (ซบ.) แล้ว ฉันไม่มีวันจะรับคืน”

 

    สิ่งนี้ต้องการจะบอกว่า ไม่มีใครเป็นชะฮีดแบบ ‘ฟลุ๊ก’ ในกัรบาลา แต่ทั้งหมดได้ผ่านขั้นตอนของการอิศละฮ์ จึงประสบความสำเร็จทั้งหมด

 

ดังนั้น พวกเราทุกคนจะต้องอิศละฮ์ลูกหลานของเราอย่างสุดความสามารถเสียก่อน เมื่อหมดความสามารถ เช่น ศาสดานุฮ์ (อ.) ที่เปลี่ยนลูกของตัวเองไม่ได้ก็ถือหมดหน้าที่แล้ว ความสำเร็จอยู่ที่อัลลอฮ์ (ซบ.) แต่จะต้องพยายามจนถึงที่สุด ไม่ใช่ว่าหยุดเสียก่อน ท้อเสียก่อน ไม่ไหวแล้ว นั่นคือคนที่แย่ที่สุดในศาสนาอิสลาม !!

 

ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซล.) กล่าวว่า “คนที่อ่อนแอนั้น บางครั้งอาจแสดงภายนอกว่าเข็มแข็ง” คือคนที่ไม่มีความสามารถที่จะอิศละฮ์ตัวเอง ไม่มีความสามารถที่จะอิศละฮ์ครอบครัว นั่นคือมนุษย์ที่อ่อนแอที่สุด

 

ดังนั้น ลูกๆ ของพวกเราจะต้องถูกอิศละฮ์ ต้องส่งเรียนให้รู้เรื่องอะฮ์กาม รู้ในหลักอะกิดะฮ์ ส่งให้อ่านเรียนอัลกุรอาน พามาในงานมัจญลิซ การอิศละฮ์ นั่นคือ การเตรียมการทุกๆ อย่างให้พร้อมสมบูรณ์.

 

และเมื่อผ่านสองขั้นตอนข้างต้น ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สาม อันเป็นการอิศละฮ์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นภารกิจของศาสดา นั่นคือ ‘อิศละฮ์สังคม’ หมายความว่า คนที่อิศละฮ์ตัวเองได้แล้ว คนที่อิศละฮ์ครอบครัวได้แล้ว ก็จะต้องเข้าสู่การอิศละฮ์สังคมต่อไป

 

ขั้นตอนที่สาม คือ ‘อิศละฮ์สังคม’

 

สุดยอดของความสำเร็จ คือ “สะอาดะฮ์” ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือการอิศละฮ์สังคม” เราจึงเห็นว่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นชะฮีดเพื่อ ‘สะอาดะฮ์’ ดังที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า “ฉันไม่เห็นสิ่งใดๆ เลยในความตาย เว้นแต่สะอาดะฮ์เท่านั้น”

 

ทำไมท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงกล่าวเช่นนั้น ?ก็เพราะท่านอิมามฮุเซน (อ.) ถือว่าความตายที่นำสู่การอิศละฮ์อุมมัตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล.) นั้น เป็นความตายที่รุ่งโรจน์ที่สุด เพราะการอิศละฮ์สาธารณชนนั้นเป็นภารกิจหลังอัมบิยาอ์ (บรรดาศาสดา) และเอาศิยาอ์ (บรรดาทายาทของศาสดา) เท่านั้น

 

เราจะเห็นบรรดานักการศาสนา (อุลามาอ์) ที่อิศละฮ์สังคมได้ เพราะเขาคือ ทายาทของอัมบียาอ์ และเอาลียาอ์ ท่านศาสดาชุอัยบ์ (อ.) ได้อิศละฮ์สังคม และได้เปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์สู่ความยุติธรรมที่แท้จริง

 

ส่วนการอิศละฮสังคมนั้น ก็ไม่มีการอิศละฮ์ใดๆ ที่จะยิ่งใหญ่ เท่ากับการอิศละฮ์อุมมัตของศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ซึ่งแน่นอนว่า ในการอิศละฮ์นั้นจะต้อง ‘ตะวักกัล’ ยังพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) เพราะมนุษย์จะต้องเผชิญหน้าจากการต่อต้านอย่างมากมาย

 

ศาสดาทุกคนที่ถูกส่งมาเพื่ออิศละฮ์ประชาชาติ ทุกคนต้องทุกข์ทรมาน บางส่วนถูกฆ่า และบางศาสดา เช่น ศาสดาอีซา (อ.) อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงยกขึ้นไปยังฟากฟ้า เพื่อเก็บรักษาไว้และปรากฎกายอีกครั้งเมื่อถึงเวลา

 

เมื่อคิดจะอิศละฮ์สังคม มนุษย์ก็จะต้องรู้ผลของมันที่จะตามมา เช่นบรรดาศาสดาที่ต้องเผชิญหน้ากับเหล่าทรราชที่ร้ายกาจในประวัติศาสตร์ เช่น ฟิรอูน นัมรูด เป็นต้น

ศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ต้องกรำศึกถึงแปดสิบสงคราม ก็ยังต้อง ‘ตะวักกัล’ ยังอัลลอฮ์ (ซบ.) เพราะท่านรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

 

 

จากหนังสือ “ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ” โดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ Syedsulaiman

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ตรรกะในการตัฟซีรกุรอาน
...
ตัฟซีรซูเราะฮ์อัลฟาติฮะฮ์ ...
ตัฟซีร ซูเราะฮ์อัลนัศร์ ตอนที่ ๑
...
ดุอาประจำวันที่ 28 ...
อะไรคือความหมายของ “วันต่าง ๆ ...
...
การตักลีดในทัศนะอิสลาม

 
user comment