อะไรคือสาเหตุการเสียชีวิตของท่านหญิงซัยนับ (อ.)
ท่านหญิงซัยนับ (อ.) คือสตรีผู้ซึ่งไม่เพียงแต่ในหมู่สตรีด้วยกันเพียงเท่านั้น แต่ทว่าแม้แต่ในหมู่บุรุษทั้งหลายของโลกก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถพบเห็นบุคคลที่เหมือนกับท่าน ความสามารถของท่านหญิงที่เป็นตัวอย่างที่สูงส่งที่สุดและเด่นชัดที่สุดคือความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว ความรู้ ความเข้าใจ วิสัยทัศน์ที่ลุ่มลึก ความปราดเปรื่องทางด้านสติปัญญา พลังอำนาจทางด้านจิตวิญญาณและการแยกแยะสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ท่านสามารถปฏิบัติทุกๆ หน้าที่จากบรรดาภาระหน้าที่ที่หลากหลายทางด้านสังคมที่ท่านได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดีและสมบูรณ์ที่สุด
เกี่ยวกับการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านหญิงซัยนับกุบรอ (อ.) บุตรคนที่สามของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี (อ.) นั้น มีทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่ทัศนะที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ก็คือท่านหญิงเสียชีวิตในวันอาทิตย์ที่ 15 ของเดือนร่อญับ ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 62
หนึ่งในคำถามต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาเกี่ยวกับท่านหญิงผู้มีเกียรติและไม่มีใครเหมือนท่านนี้ ซึ่งบรรดานักค้นคว้าวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ได้ให้คำตอบไว้แล้ว นั่นก็คือ เกี่ยวกับวิธีการและสภาพการเสียชีวิตของท่าน
จำเป็นต้องกล่าวว่า : บนพื้นฐานของบันทึกบางส่วนทางประวัติศาสตร์นั้น ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้ป่วยและเสียชีวิต (วะฟาต) ลงแบบปกติตามธรรมชาติ (1) และดูเหมือนว่าการคาดคะเนต่อไปนี้จะดูเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือเนื่องจากว่าท่านหญิงได้ประสบกับความทุกข์ยากและความทุกข์ทรมานอย่างมาก ด้วยสาเหตุดังกล่าวที่ทำให้ท่านหญิงต้องป่วยลง
บนพื้นฐานของการคาดการณ์บางส่วน ท่านหญิงซัยนับกุบรอ (อ.) ถูกวางยาพิษโดยสมุนรับใช้ของยาซีด บุตรของมุอาวิยะฮ์ และเป็นชะฮีดในที่สุด ซึ่งการคาดคะเนเช่นนี้ก็ไม่ห่างไกลจากความจริงนัก ทั้งนี้เนื่องจากท่านหญิงซัยนับพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดในแผ่นดินกัรบะลา การดำรงอยู่ของท่านหญิงคือเครื่องย้ำเตือนความทุกข์โศกต่างๆ ของเหตุการณ์ในกัรบะลา เป็นสื่อย้ำเตือนให้รำลึกถึงอาชญากรรมต่างๆ ของรัฐบาลของยาซีด ยาซีดจึงไม่สามารถที่จะอดทนต่อท่านหญิงได้ แน่นอนในการดำเนินการต่างๆ ลักษณะเช่นนี้ ศัตรูย่อมไม่ปล่อยให้เอกสารหลักฐานตกไปอยู่ในมือใคร และพวกเขาได้กระทำการเช่นนี้ในที่ลับตาโดยไม่มีใครล่วงรู้ (2)
เกี่ยวกับวันและปีการเสียชีวิตของท่านหญิงก็มีทัศนะความเห็นที่ขัดแย้งเช่นเดียวกัน ทัศนะที่ถูกยอมรับมากที่สุดคือ ท่านหญิงเสียชีวิตในวันอาทิตย์ที่ 15 ของเดือนร่อญับ ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 62
ในเนื้อหาต่อไปนี้ เราจะมาทบทวนตัวอย่างส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความผันผวนและความทุกข์ยากของชีวิตของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการถือกำเนิด (วิลาดัต) จวบจนถึงการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่าน
การถือกำเนิด การแต่งงานและลูกๆ
ท่านหญิงซัยนับ กุบรอ (อ.) ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ห้าของเดือนญะมาดุลอูลา ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ห้าหรือที่หกในนครมะดีนะฮ์ อัลมุเนาวะเราะฮ์ ชื่อของท่านคือ “ซัยนับ” สร้อยนามของท่านคือ “อุมมุ้ลฮะซัน” และ “อุมมุกุลซูม” และฉายาของท่านได้แก่ “ซิดดีก้อตุลกุบรอ” “อิศมะตุซซุฆรอ” “วะลียะตุลลอฮิลอุซมา” “นามูซุลกุบรอ” “ชะรีกะตุลฮุซัยน์ (อ.)” “อาลิมะตุล ฆ็อยรุมุอัลลิมะฮ์” “ฟาฎิละฮ์” “กามิละฮ์” และอื่น ๆ
บิดาของท่านหญิงคือ ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ผู้นำท่านแรกของชีอะฮ์ และมารดาผู้มีเกียรติของท่าน คือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) บุตรีของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) สามีของท่านคือท่านอับดุลลอฮ์ บุตรชายท่านญะอ์ฟัร บินอบีฏอลิบ ในหนังสือ “อะลามุ้ลวะรอ” ได้กล่าวถึงบุตรชายทั้งสามคนของท่าน คือ อะลี อูนและญะอ์ฟัร และลูกสาวคนหนึ่งของท่านคือ อุมุกุลซูม
ความฉลาดและสติปัญญาที่ไม่มีใครเทียบ
เจ้าของหนังสือ “อะซาวิรุ มัน ซะฮับ” ได้เขียนเกี่ยวกับความจำและความฉลาดของท่านหญิงไว้เช่นนี้ว่า : เกี่ยวกับความสำคัญของสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดของท่านหญิงซัยนับ (อ.) นั้น เพียงพอแล้วที่เราจะรับรู้ว่า ท่านหญิงซัยนับ (อ.) เป็นผู้รายงานคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ต้นยาวของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ที่ท่านได้กล่าวปกป้องสิทธิของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) และการฉกชิงสวนฟะดัก ในท่ามกลางเหล่าซอฮาบะฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
และท่านอิบนิอับบาส ผู้ซึ่งมีตำแหน่งและสถานะที่สูงส่งทางด้านฮะดีษและความรู้ก็ยังรายงานฮะดีษจากท่านหญิงซัยนับ (อ.) และได้ให้ฉายาท่านหญิงว่า “อะกีละฮ์” (สตรีผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ) ดังเช่นที่อบุลฟะรัจญ์ อิสฟะฮานี ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อัลมะกอติล” ของเขาว่า : ท่านอิบนิอับบาสได้รายงานคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) จากท่านหญิงซัยนับ และท่านกล่าวว่า
حدثتنی عقیلتنا زینب بنت علی علیهالسّلام
“อะกีละฮ์ (สตรีผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศ) ของเราได้รายงานฮะดีษแก่ฉัน ...”
จำเป็นที่เราจะต้องตระหนักว่า ท่านหญิงซัยนับ แม้ช่วงเวลาที่ยังเป็นเด็ก (กล่าวคือมีอายุเพียงเจ็ดขวบหรือน้อยกว่านั้น) แต่ท่านสามารถจดจำคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ที่น่าทึ่งและเปี่ยมไปด้วยโวหารนี้ได้ด้วยการรับฟังเพียงครั้งเดียว ซึ่งเนื้อหาของคุฏบะฮ์นี้ครอบคลุมไปด้วยหลักคำสอนต่างๆ ของอิสลาม ปรัชญาของบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนา และเนื้อหาอื่นๆ อีกมากมาย และท่านหญิงซัยนับ (อ.) เองก็คือหนึ่งในบรรดานักรายงานคุฏบะฮ์ (ธรรมเทศนา) ที่น่าทึ่งและเปี่ยมไปด้วยโวหารนี้
ความผูกพันที่เป็นพิเศษของท่านหญิงซัยนับที่มีต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.)
อัลลามะฮ์อัลญะซาอิรี ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อัลค่อซออิซุซซัยนะบียะฮ์” ว่า : ในช่วงที่ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ยังเป็นเด็กทารกที่ดื่มนมและยังนอนอยู่ในเปล คราใดก็ตามที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายของตนหายลับไปจากสายตา ท่านหญิงจะร้องไห้และอยู่ในอาการกระสับกระส่าย แต่ทันทีที่สายตาของท่านหญิงมองเห็นใบหน้าของพี่ชาย ท่านหญิงจะแสดงความดีใจและมีรอยยิ้มออกมา เมื่อท่านหญิงเติบโตขึ้น ในช่วงเวลานมาซก่อนที่จะกล่าวอิกอมะฮ์นมาซ อันดับแรกท่านหญิงจะมองไปยังใบหน้าของท่านอิมามฮุเซน (อ.) แล้วหลังจากนั้นจึงเริ่มต้นนมาซ
การอยู่ร่วมเคียงข้างท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือเงื่อนไขการแต่งงานของท่านหญิงซัยนับ (อ.) กับอับดุลลอฮ์
กล่าวกันว่า : ท่านอิมามอะลี (อ.) ในขณะที่แต่งงานท่านหญิงซัยนับ (อ.) ให้กับอับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร บุตรชายของพี่ชายของท่านนั้น ท่านได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในคำอ่านอักดุ้นนิกาห์ด้วยว่า คราใดก็ตามที่ซัยนับต้องการที่จะร่วมเดินทางไปกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายของตน เขาจะต้องไม่ห้ามและยับยั้งนาง และเมื่ออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัรต้องการที่จะยับยั้งท่านอิมามฮุเซน (อ.) จากการเดินทางไปยังอิรัก แต่ท่านอิมาม (อ.) ไม่ยอมรับข้อเสนอของเขา ทำให้เขาสิ้นหวังจากความตั้งใจของเขา แต่กระนั้นก็ตามอับดุลลอฮ์ออกคำสั่งให้บุตรชายสองคนของเขาคือ อูนและมุฮัมมัด ให้เดินทางร่วมไปกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ยังแผ่นดินอิรัก และให้ทั้งสองทำการญิฮาดและต่อสู้เคียงข้างท่านอิมามฮุเซน (อ.)
ความกล้าหาญที่ไม่มีใครเหมือนของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
เกี่ยวกับสตรีผู้สูงส่งที่ไม่มีใครเหมือนท่านนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการพูดถึงการปรากฏตัวของท่านในแผ่นดินกัรบะลา การอยู่ร่วมเคียงข้างพี่ชายผู้มีเกียรติของท่าน รวมทั้งการให้การดูแลบรรดาเชลยศึกแห่งกัรบะลาและการนำสาส์นแห่งอาชูรอ ความกล้าหาญของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้นมีอยู่ในตัวท่านหญิงซัยนับ (อ.) ผู้เป็นน้องสาวด้วยเช่นกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งท่านหญิงซัยนับ (อ.) เมื่อพิจารณาถึงสถานะความกล้าหาญของท่าน โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งอิมามะฮ์ (ความเป็นอิมาม) ก็มิได้น้อยไปกว่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) เลย ความเข้มแข็งทางด้านจิตใจของท่านเนื่องจากท่านเชื่อมสัมพันธ์ไปยังแหล่งกำเนิดอันสูงส่ง (พระผู้เป็นเจ้า) ทำให้สติปัญญาของผู้คนทั้งหลายต้องพบกับความพิศวงงงงันอย่างแท้จริง
เชคชูชตะรี กล่าวว่า : แม้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะเผชิญศึกในสนามศึกแห่งกัรบะลาเพียงหนึ่งเดียว แต่ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้เผชิญศึกถึงสองสนาม สนามศึกแรกนั่นคือในสถานที่ชุมนุม (มัจญ์ลิซ) ของอิบนิซิยาด และสนามศึกที่สองคือในสถานที่ชุมนุม (มัจญ์ลิซ) ของยะซีดจอมชั่วร้าย แต่จะมีความแตกต่างในแง่ของลักษณะการปรากฏตัวเท่านั้น การต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ท่านจะปรากฏตัวด้วยกับการสวมใส่เสื้อผ้าของท่านศาสดาที่ตกทอดมาถึงท่าน ด้วยกับอะมามะฮ์ (ผ้าโพกศีรษะ) ของท่านศาสดาที่อยู่บนศีรษะของท่าน เสื้อคลุมของท่านศาสดาที่อยู่บนเรือนร่างของท่าน ถือหอกและดาบขึ้นขี่บนม้าของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และเข้าสู่การทำสงครามกับพวกมุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ด้วยศักดิ์ศรีและความกล้าหาญจนกระทั่งเป็นชะฮีด
ท่านหญิงซัยนับ (อ.) และการหันหลังให้กับความสุขสบายทางโลก
ในบ้านของสามี ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้รับประโยชน์จากปัจจัยอำนวยสุขที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด คนรับใช้ทั้งชายและหญิง และสิ่งอำนวยความสะดวกก็มีอย่างครบครันโดยไม่บกพร่องในบ้านที่ท่านหญิงใช้ชีวิตอยู่ แต่ทันทีที่ท่านหญิงพบว่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) กำลังจะออกเดินทาง ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้ละทิ้งความสุขสบายทั้งมวล และนำตัวเองเข้าสู่ทะเลแห่งความยากลำบากและความทุกข์ยากนานัปการ หากท่านไม่รู้เรื่องราวมาก่อนก็คงไม่สำคัญเท่าใดนัก แต่ทว่าท่านหญิงได้เดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์พร้อมกับอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายของท่าน ตั้งแต่ค่ำคืนของวันที่ 27 ของเดือนร่อญับ มุ่งสู่นครมักกะฮ์ และได้เตรียมพร้อมตนเองสำหรับการเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากต่างๆ ตามที่ตาของท่านคือท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และบิดาและมารดาของท่านได้แจ้งข่าวให้รู้ล่วงหน้าไว้แล้ว ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ด้วยกับความรู้และความมั่นใจ (ยะกีน) ที่ว่าการเดินทางครั้งนี้จะต้องจบลงด้วยกับการเป็นเชลยศึก ไร้ที่พักพิงอยู่ในท้องทะเลทราย และจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากต่างๆ ในระหว่างเส้นทางของการเดินทาง แต่ท่านก็ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้น
การเป็นเชลยศึกคือความภาคภูมิใจของซัยนับ (อ.) และการดำรงอยู่ของการยืนหยัดต่อสู้แห่งอาชูรอ
ภายหลังจากเหตุการณ์แห่งกัรบะลา ท่านหญิงซัยนับ (อ.) มีชีวิตอยู่อีกประมาณหนึ่งปีหกเดือน ท่านหญิงซัยนับถูกนำพาตัวไปยังเมืองกูฟะฮ์ในกองคราวานเชลยศึกแห่งกัรบะลาพร้อมกับผู้ที่รอดชีวิตคนอื่นๆ ต่อจากนั้นถูกส่งตัวไปยังเมืองชาม แม้หน้าที่ความเป็นผู้นำของผู้ที่รอดชีวิตจะอยู่ในความรับผิดชอบของท่านอิมามซัจญาด (อ.) ก็ตาม แต่ท่านหญิงซัยนับกุบรอ (อ.) ก็ทำหน้าที่ในการดูแลบุคคลเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
การปราศรัยด้วยความองอาจกล้าหาญของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ในเมืองกูฟะฮ์ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่บุคคลโดยทั่วไปซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น คำพูดที่เปล่งเสียงตะโกนออกมาอย่างเมามายของอุบัยดิลลาฮ์ อิบนิซิยาด ที่หลงลำพองในชัยชนะของตน โดยกล่าวออกมาว่า
كَيْفَ رَأَيْتِ صُنْعَ اللَّهِ بِأَخِيكِ وَ أَهْلِ بَيْتِكِ ؟
“เจ้าเห็นไหม พระผู้เป็นเจ้าได้ทำอย่างไรกับพี่ชายของเจ้าและครอบครัวของเจ้า!”
ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้ตอบโต้ด้วยความองอาจและกล้าหาญเกินกว่าจะพรรณนา โดยกล่าวว่า
مَا رَأَيْتُ إِلَّا جَمِيلًا ، هَؤُلَاءِ قَوْمٌ كَتَبَ اللَّهُ عَلَيْهِمُ الْقَتْلَ فَبَرَزُوا إِلَى مَضَاجِعِهِمْ ، وَ سَيَجْمَعُ اللَّهُ بَيْنَكَ وَ بَيْنَهُمْ فَتُحَاجُّ وَ تُخَاصَمُ ، فَانْظُرْ لِمَنِ الْفَلْجُ يَوْمَئِذٍ.
“ฉันไม่เห็นสิ่งใดนอกจากความสวยงาม บุคคลเหล่านั้นคือกลุ่มชนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงลิขิตความตาย (การเป็นชะฮีด) ไว้แล้วสำหรับพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงไปปรากฏตัวที่สถานที่พลีชีพของพวกเขา และในไม่ช้าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเรียกรวมระหว่างเจ้าและพวกเขา โดยที่เจ้าจะต้องถูกสอบสวนและถูกพิพากษา แล้ววันนั้นเจ้าจงรอดูเถิดว่าชัยชนะจะเป็นของใคร!”
ในช่วงเวลาที่อิบนุซิยาดได้ออกคำสั่งให้สังหารท่านอิมามซัจญาด (อ.) ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้โอบกอดหลานชายของตนไว้ในอ้อมกอดและกล่าวอย่างกล้าหาญว่า “หากเจ้าต้องการฆ่าเขา ดังนั้นจงฆ่าฉันเสียก่อนเถิด!” ด้วยผลของการคัดค้านและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงของท่านหญิงซัยนับ (อ.) นี่เองที่ทำให้อิบนิซิยาดสำนึกและเปลี่ยนใจจากการสังหารท่านอิมามซัจญาด (อ.)
กองคาราวานของเหล่าเสรีชนถูกส่งตัวไปยังดามัสกัส ในเมืองชามก็เช่นเดียวกัน ท่านหญิงซัยนับ (อ.) สามารถทำให้ความคิดเห็นของประชาชนเกิดความพลิกผัน การชุมนุมของยาซีดถูกจัดเตรียมขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะ ท่ามกลางบรรดาผู้ที่รอดชีวิตมาจากเหตุการณ์การต่อสู้แห่งกัรบะลา เขาได้วางศีรษะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ลงในถาด และใช้ไม้ตีไปที่ใบหน้าของท่าน ท่านหญิงซัยนับกุบรอ (อ.) ได้ทำลายความหลงลำพองตนของยะซีดลงด้วยการกล่าวปราศรัยของท่าน ทำให้เขาต้องสำนึกและเสียใจจากการกระทำของตนเอง ในที่สุดยะซีดจำเป็นต้องส่งกองคาราวานกลับสู่นครมะดีนะฮ์อย่างให้เกียรติ
ในนครมะดีนะฮ์ก็เช่นเดียวกัน ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ในฐานะที่เป็นผู้ถือสาส์นของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลา ท่านมิได้นั่งนิ่งเฉย ท่านได้ทำหน้าที่ปลุกเร้าประชาชนมะดีนะฮ์ให้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจการกครองของยะซีด ทำให้ผู้ปกครองนครมะดีนะฮ์ตัดสินใจเนรเทศท่านหญิงซัยนับ (อ.) ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วน ท่านหญิงซัยนับ (อ.) เดินทางไปยังเมืองชามและเสียชีวิตลงที่นั่น แต่อีกบางส่วนกล่าวว่า ท่านหญิงอพยพไปยังอียิปต์และเสียชีวิตลงในวันที่ 15 ของเดือนร่อญับ ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 62 (3 และ 4)
แหล่งที่มา :
[1] มุนตะค็อบ อัตตะวารีค หน้าที่ 67
[2] ซัยนับ อัลกุบรอ มินัลมะฮ์ดิ อิลัลละฮ์ดิ หน้าที่ 592
[3] อัลลุฮูฟ หน้าที่ 324; มักตะลุลฮุซัยน์, มุก็อรร็อม เล่มที่ 2 หน้าที่ 144
[4] อัลอิรชาด หน้าที่ 116 และ 117; บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 45 หน้าที่ 117
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
source : alhassanain