ปรัชญาและผลของการประกอบพิธีฮัจญ์
“ฮัจญ์” ก็เช่นเดียวกับการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระเจ้า) และการปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆที่นอกเหนือจากเรื่องของการเสริมสร้างตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) และการชำระขัดเกลาตนแล้วยังมีมิติต่างๆ มากมาย หากได้ปฏิบัติมันไปตามแบบแผนที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดผลประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามขึ้นได้ ทั้งต่อตัวบุคคลและต่อสังคมอิสลาม
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คัมภีร์กุรอาน จึงได้เน้นย้ำอย่างมากเกี่ยวกับพิธีกรรมนี้ ตัวอย่างเช่น ในซูเราะฮ์ฮัจญ์
อัลลอฮ์(ซ.บ.)ได้ทรงกล่าวต่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เช่นนี้ว่า :
وَأَذِّنْ فِي النَّاسِ بِالْحَجِّ يَأْتُوكَ رِجالاً وَعَلى كُلِّ ضامِرٍ يَأْتِينَ مِنْ كُلِّ فَجٍّ عَمِيقٍ لِيَشْهَدُوا مَنافِعَ لَهُمْ
“และจงประกาศแก่มนุษย์ทั่วไปเพื่อการทำฮัจญ์ พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้า และโดยทางอูฐเพรียวทุกตัว จะมาจากทางไกลทุกทิศทาง เพื่อพวกเขาจะประจักษ์ในผลประโยชน์ (ทางโลกนี้และในปรโลก) ของพวกเขา…” (1)
เมื่อพิจารณาถึงโองการอัลกุรอาน ในลักษณะนี้ทำให้ประจักษ์ได้อย่างชัดเจนถึงสถานะและความสำคัญของพิธีฮัจญ์ในทัศนะของอิสลาม ในที่นี้จะขอชี้โดยสังเขปถึงบางส่วนของผลประโยชน์ของการทำฮัจญ์ การชุมนุมอันยิ่งใหญ่และพิธีกรรมทางด้านจิตวิญญาณและการเมืองของประชาชาติอิสลามนี้
1. ผลทางด้านจริยธรรมของฮัจญ์
ปรัชญาที่สำคัญที่สุดของฮัจญ์ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านจริยธรรม ที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลทั้งหลาย การครอง “อิห์รอม” (คือการสวมใส่ชุดเฉพาะสำหรับการทำพิธีฮัจญ์) จะนำพามนุษย์ออกจากการเสริมแต่งทางด้านวัตถุ เสื้อผ้าและเครื่องประดับอันเลิศหรูและการห้ามจากการแสวงหาความสุขต่างๆ เพื่อมุ่งมั่นในการชำระขัดเกลาตนเองซึ่ง ถือเป็นภาระหน้าที่ประการหนึ่งของผู้ครองอิห์รอม ซึ่งจะทำให้เขาตัดขาดและหลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุ และดำดิ่งเข้าสู่โลกแห่งจิตวิญญาณที่ที่ผ่องแผ้วและเต็มเปี่ยมไปด้วยรัศมี บุคคลที่ในสภาวะปกติเคยหลงใหลและยึดติดอยู่กับเกียรติยศ ชื่อเสียงและตำแหน่งอันจอมปลอมทั้งหลาย ได้หลุดพ้นออกจากสิ่งเหล่านั้น และมองเห็นตัวเองอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน ไม่มีความแตกต่างใดๆ กับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ภายใต้ชุดอิห์รอมที่ประกอบไปด้วยเครื่องนุ่งห่มเพียงสองชิ้นที่เท่าเทียมกัน
หลังจากนั้นขั้นตอนต่างๆ ในพิธีกรรมฮัจญ์ก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกันไป พิธีกรรมต่างๆ จะทำให้ความผูกพันทางด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าเกิดความเข้มแข็งขึ้นทีละน้อยๆ และทำให้สายสัมพันธ์ที่เขามีต่อพระองค์เกิดความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขาตัดขาดจากอดีตอันมืดมนและความผิดบาปทั้งหลาย เข้าสู่ความผูกพันในอนาคตที่สดใสและเต็มเปี่ยมไปด้วยรัศมีและความสะอาดบริสุทธิ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พิธีกรรมของฮัจญ์ในทุกย่างก้าวนั้น เป็นเครื่องย้ำเตือนให้รำลึกถึงความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์ของท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ.) ผู้ทำลายรูปเจว็ด ท่านศาสดาอิสมาอีล(อ.) “ซะบีฮุลลอฮ์” (ผู้ถูกเชือดพลีของอัลลอฮ์) และมารดาของท่านคือท่านหญิงฮาญัร การต่อสู้และการเสียสละ และการพลีอุทิศของพวกท่านเหล่านั้น ซึ่งจะเกิดจินตนาการขึ้นในสายตาและในความนึกคิดของมนุษย์ และการมุ่งความสนใจไปยังแผ่นดินมักกะฮ์ โดยรวมหมายถึงมัสยิดิลฮะรอมและบัยตุลลอฮ์ ซึ่งเป็นสถานที่ฏอวาฟโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นเครื่องเตือนความทรงจำทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) รวมถึงบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์(อ.) และการต่อสู้ของบรรดามุสลิมในยุคแรกของอิสลาม จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านจริยธรรมอย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้น โดยทุกตรอกซอกซอยของมัสยิดิลฮะรอมและแผ่นดินมักกะฮ์นั้น มนุษย์จะมองเห็นภาพของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ท่านอะลี(อ.) และบรรดาผู้นำท่านอื่นๆ และได้ยินเสียงเรียกร้องจากวีรกรรมต่างๆ ของพวกท่าน
มีปรากฏในคำรายงาน ซึ่งกล่าวว่า
یَخْرُجُ مِنْ ذُنُوبِهِ کَهَیْئَتِهِ یَوْمَ وَلَدَتْهُ اُمُّهُ
“(บุคคลใดก็ตามที่บำเพ็ญฮัจญ์อย่างสมบูรณ์) เขาจะออกจากความผิดบาปทั้งหลายของเขา ดังวันที่มารดาของเขาได้ให้กำเนิดเขาขึ้นมา” (2)
ดังนั้น การบำเพ็ญฮัจญ์สำหรับมวลมุสลิมนั้นเปรียบเสมือนเป็นการเกิดใหม่เป็นครั้งที่สอง การเกิดใหม่จะเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ผ่องแผ้วสำหรับมนุษย์ แต่ความจำเริญและคุณค่าทั้งหลายเหล่านี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้กับบุคคลที่การประกอบพิธีฮัจญ์ของเขาเป็นแต่เพียงเปลือกนอก โดยละทิ้งเนื้อแท้ด้านในและปรัชญาที่แท้จริงของมัน คุณค่าและความจำเริญดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ยึดถือเอาการทำฮัจญ์เป็นเพียงการพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางท่องเที่ยว การแสดงตนโอ้อวด และการแสวงหาปัจจัยทางด้านวัตถุ โดยมิได้คำนึงหรือไม่มีความเข้าใจถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของฮัจญ์
2. ผลทางด้านการเมืองของฮัจญ์
เป็นไปตามคำกล่าวของปราชญ์ผู้ทรงความรู้ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของอิสลาม ซึ่งท่านได้กล่าวว่า พิธีกรรมของฮัจญ์นั้นเป็นการแสดงออกถึงการอิบาดะฮ์(เคารพภักดี)ต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ลึกซึ้งที่สุด และสะอาดบริสุทธิ์ที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดสำหรับการทำให้เป้าหมายทางด้านการเมืองของอิสลามบรรลุผลสำเร็จ
เป้าหมายและแก่นแท้ของการอิบาดะฮ์ คือการมุ่งตรงสู่พระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่เป้าหมายและแก่นแท้ของการเมือง คือการมุ่งความสนใจและการเอาใจใส่ต่อมวลมนุษย์ในฐานะผู้เป็นสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และทั้งสองประการนี้ได้ถูกผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันในพิธีกรรมฮัจญ์
“ฮัจญ์” คือเครื่องมือที่สำคัญและทรงอิทธิพลยิ่งสำหรับการสร้างเอกภาพเกิดขึ้นในหมู่ประชาชาติมุสลิม
“ฮัจญ์” คือเครื่องมือของการต่อสู้และการทำลายล้างความเป็นชาตินิยม การคลั่งไคล้ในเชื้อชาติ การบูชาเผ่าพันธุ์ และการกำจัดเขตแดนต่างๆ ทางด้านภูมิศาสตร์
“ฮัจญ์” คือสื่อหนึ่งที่จะทำลายการควบคุมและอำนาจครอบงำของระบบที่กดขี่ต่างๆ ที่มีอำนาจปกครองอยู่เหนือประเทศอิสลามทั้งหลาย
“ฮัจญ์” คือสื่อหนึ่งที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารแก่กันและกันทางด้านการเมืองของประเทศอิสลาม และท้ายที่สุด
“ฮัจญ์” คือเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการทำลายโซ่ตรวนของการตกเป็นทาสและการล่าอาณานิคม และเป็นการปลดปล่อยประชาชาติมุสลิมให้เป็นอิสระ
ดังนั้น บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอะบีฏอลิบ(อ.) ในขณะที่ท่านอธิบายถึงปรัชญาต่างๆ ของข้อบัญญัติทางศาสนาและการอิบาดะฮ์ ท่านได้กล่าวถึงการบำเพ็ญฮัจญ์ว่า
«فرض الله الحج تقویة للدین»
“พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญญัติการทำฮัจญ์ เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นกับศาสนา” (3)
“ฮัจญ์” ก็เช่นเดียวกับการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระเจ้า) และการปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆที่นอกเหนือจากเรื่องของการเสริมสร้างตักวา (ความยำเกรงพระเจ้า) และการชำระขัดเกลาตนแล้วยังมีมิติต่างๆ มากมาย หากได้ปฏิบัติมันไปตามแบบแผนที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดผลประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามขึ้นได้ ทั้งต่อตัวบุคคลและต่อสังคมอิสลาม
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คัมภีร์กุรอาน จึงได้เน้นย้ำอย่างมากเกี่ยวกับพิธีกรรมนี้ ตัวอย่างเช่น ในซูเราะฮ์ฮัจญ์อัลลอฮ์(ซ.บ.)ได้ทรงกล่าวต่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เช่นนี้ว่า :
وَأَذِّنْ فِي النَّاسِ بِالْحَجِّ يَأْتُوكَ رِجالاً وَعَلى كُلِّ ضامِرٍ يَأْتِينَ مِنْ كُلِّ فَجٍّ عَمِيقٍ لِيَشْهَدُوا مَنافِعَ لَهُمْ
“และจงประกาศแก่มนุษย์ทั่วไปเพื่อการทำฮัจญ์ พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้า และโดยทางอูฐเพรียวทุกตัว จะมาจากทางไกลทุกทิศทาง เพื่อพวกเขาจะประจักษ์ในผลประโยชน์ (ทางโลกนี้และในปรโลก)ของพวกเขา…” (4)
ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ.) ได้มีสาส์นถึงบรรดาฮุจญาจ (ฮ.ศ. 1399) ซึ่งในตอนหนึ่งท่านได้กล่าว่า
“…โอ้บรรดาผู้มาเยือนบัยตุลลอฮิลฮะรอมผู้มีเกียรติ ผู้ซึ่งได้รีบรุดมาจากทุกสารทิศของโลกสู่บ้านแห่งพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นศูนย์กลางแห่งเตาฮีด (การยอมรับในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า) เป็นสถานที่แห่งการประทานวะห์ยู และเป็นสถานที่ยืนหยัดของอิบรอฮีม (อ.) และมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) สองมหาบุรุษผู้ทำลายล้างเจว็ดและผู้ทำสงครามกับบรรดาเหล่ามหาอำนาจผู้อหังการทั้งหลาย…
ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมตนเองเถิด จากศูนย์กลางแห่งการทำลายล้างเจว็ดนี้ เพื่อการทำลายล้างบรรดาเจว็ดที่ยิ่งใหญ่ ที่เผยตนออกมาในรูปของบรรดามหาอำนาจแห่งซาตาน และบรรดาผู้ปล้นสะดมผู้กระหายเลือด ท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นเกรงต่อบรรดามหาอำนาจผู้ไร้ศรัทธาเหล่านี้ และด้วยกับการมอบหมายต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ และในสถานที่อันมีเกียรตินี้ พวกท่านทั้งหลายจงให้พันธสัญญาในความเป็นเอกภาพและความร่วมมือต่อกันในการเผชิญหน้ากับบรรดากองทัพของผู้ตั้งภาคีและมารร้าย และท่านทั้งหลายจงหลีกเลี่ยงจากความขัดแย้งและความแตกแยกกัน
لا تَنَازَعُوا فَتَفْشَلُوا وَتَذْهَبَ رِيحُكُمْ
“และพวกเจ้าจงอย่าขัดแย้งกัน เพราะจะทำให้พวกเจ้าอ่อนแอ และพลังอำนาจของพวกเจ้าก็จะหมดไป” (5)
…ท่านทั้งหลายจงมาเถิด จงรับฟังคำแนะนำตักเตือนประการหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสว่า
قُلْ إِنَّمَا أَعِظُكُمْ بِوَاحِدَةٍ أَنْ تَقُومُوا للهِ مَثْنَى وَفُرَادَى
“จงประกาศเถิด! แท้จริงฉันขอตักเตือนพวกท่านประการหนึ่ง นั่นคือการที่พวกท่านทั้งหลายจะต้องยืนหยัดขึ้นเพื่ออัลลอฮ์ ไม่ว่าจะมีสองคนหรือคนเดียวก็ตาม” (6)
ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด และจงยืนหยัดเพื่อพระผู้เป็นเจ้า การยืนหยัดขึ้นโดยลำพังคนเดียวเพื่อการเผชิญหน้ากับกองทัพแห่งมารร้าย (ชัยฏอน) ที่อยู่ด้านในของตัวพวกท่าน และการยืนหยัดโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อเผชิญหน้ากับมหาอำนาจซาตานทั้งหลาย
หากขบวนการต่อสู้และการยืนหยัดนั้นเป็นไปเพื่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ย่อมจะประสบกับชัยชนะ…และด้วยกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเดชานุภาพ ข้าพเจ้าขอแจ้งข่าวดีถึงการช่วยเหลือและชัยชนะแก่พวกท่านทั้งหลาย”
3. ผลทางด้านวัฒนธรรมของฮัจญ์
การติดต่อสัมพันธ์กันของมวลมุสลิมจากทั่วทุกสารทิศในช่วงวันทั้งหลายของเทศกาลฮัจญ์ ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการถ่ายทอดความคิดต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมตัวและการเข้าร่วมชุมนุมของมวลมหาประชาชนจำนวนมากในเทศกาลฮัจญ์ ถือเป็นตัวแทนโดยธรรมชาติอย่างแท้จริงของกลุ่มชนทุกระดับชั้น ทุกเชื้อชาติและทุกภาษา จากทั่วทุกมุมของโลก
ด้วยเหตุนี้เราจะพบได้ในคำรายงานของอิสลามที่ว่า ส่วนหนึ่งจากคุณประโยชน์ของการทำฮัจญ์ คือการเผยแพร่ข่าวสารเรื่องราวและร่องรอยต่างๆ ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ) ไปสู่โลกอิสลามทั้งมวล
ท่านฮิชาม บินฮะกัม ซึ่งเป็นสานุศิษย์ผู้ทรงความรู้ท่านหนึ่งของท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก(อ.) กล่าวว่า ฉันถามอิมาม(อ.) เกี่ยวกับปรัชญาของการทำฮัจญ์และการฏอวาฟ(เดินเวียนรอบ)อาคารกะอ์บะฮ์ ท่านได้กล่าวว่า
إِنَّ اللَّهَ خَلَقَ الْخَلْقَ إِلَى أَنْ قَالَ وَ أَمَرَهُمْ بِمَا يَكُونُ مِنْ أَمْرِ الطَّاعَةِ فِي الدِّينِ وَ مَصْلَحَتِهِمْ مِنْ أَمْرِ دُنْيَاهُمْ فَجَعَلَ فِيهِ الِاجْتِمَاعَ مِنَ الشَّرْقِ وَ الْغَرْبِ لِيَتَعَارَفُوا وَ لِيَنْزِعَ كُلُّ قَوْمٍ مِنَ التِّجَارَاتِ مِنْ بَلَدٍ إِلَى بَلَدٍ وَ لِيَنْتَفِعَ بِذَلِكَ الْمُكَارِي وَ الْجَمَّالُ وَ لِتُعْرَفَ آثَارُ رَسُولِ اللَّهِ ص وَ تُعْرَفَ أَخْبَارُهُ وَ يُذْكَرَ وَ لَا يُنْسَى
“พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมวลมนุษย์ขึ้นมา…และพระองค์ได้ทรงบัญชาแก่พวกเขาให้ปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นคำสั่งสอนของศาสนา และสิ่งที่จะให้คุณประโยชน์แก่พวกเขา ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับโลก (ดุนยา)ของพวกเขา และส่วนหนึ่งจากสิ่งเหล่า คือการที่พระองค์ได้ทรงกำหนดให้มีการรวมตัวกันของมวลมหาประชาชนจากตะวันออกและตะวันตกในพิธีฮัจญ์ เพื่อให้พวกเขาได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และเพื่อแต่ละกลุ่มชนจะได้นำการค้าขายต่างๆ จากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่ง…และเพื่อที่ประชาชนทั้งหลายจะได้รับรู้ถึงร่องรอยและข่าวคราวต่างๆ ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ) และรำลึกไว้ในความทรงจำโดยไม่ลืมเลือน”
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ในยุคสมัยต่างๆ ที่เต็มไปด้วยการรีดนาทาเร้นและการครอบงำ การควบคุมอย่างเข้มงวดจากบรรดาผู้ปกครองที่อธรรม ที่ไม่อนุญาตให้บรรดามุสลิมทำการการศึกษาเรียนรู้และเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของอิสลามได้โดยอิสระ บรรดามุสลิมจึงได้ใช้โอกาสในช่วงเวลาของการทำฮัจญ์นี้ ทำการเยียวยาแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ของตน โดยการติดต่อสัมพันธ์กับบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์(อ.) และบรรดาปวงปราชญ์ทางศาสนา ทำให้พวกเขาสามารถรับรู้ถึงหลักคำสอนต่างๆ ของอิสลาม และซุนนะฮ์(แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูต(ศ็อลฯ) ได้
ในอีกด้านหนึ่ง “ฮัจญ์” สามารถเปลี่ยนเป็นการประชุมอันยิ่งใหญ่ทางด้านวัฒนธรรมได้ บรรดานักวิชาการของโลกแห่งอิสลามได้ใช้ในช่วงที่พำนักอยู่ในนครมักกะฮ์ พวกเขาจะรวมตัวกันและนำเสนอแนวคิดและการริเริ่มใหม่ๆ ของตนเองแก่บุคคลอื่นๆ
โดยพื้นฐานแล้ว ส่วนหนึ่งจากความโชคร้ายอันใหญ่หลวงก็คือ การที่อาณาเขตต่างๆ ของประเทศอิสลามได้กลายเป็นสาเหตุของความแปลกแยกทางด้านวัฒนธรรมของพวกเขา บรรดามุสลิมในแต่ละประเทศต่างขบคิดในเรื่องของประเทศตัวเองเพียงเท่านั้น ซึ่งในรูปกาลเช่นนี้ สังคมอันเป็นหน่วยเดียวกันของโลกอิสลามก็จะถูกทำลายและถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ แน่นอนยิ่งว่า ฮัจญ์นั้นสามารถที่จะสกัดกั้นชะตากรรมอันเลวร้ายดังกล่าวนี้ได้
จากคำพูดของท่านอิมามซอดิก(อ.) ที่มีต่อท่านฮิชาม บินฮะกัม ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งท่านได้กล่าวว่า
« وَ لَوْ كَانَ كُلُّ قَوْمٍ إِنَّمَا يَتَّكِلُونَ عَلَى بِلَادِهِمْ وَ مَا فِيهَا هَلَكُوا وَ خَرِبَتِ الْبِلَادُ وَ سَقَطَتِ الْجَلَبُ وَ الْأَرْبَاحُ وَ عَمِيَتِ الْأَخْبَارُ »
“มาตรว่าแต่ละกลุ่มชนได้พูดคุยกันเฉพาะเรื่องราวของประเทศและบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเพียงเท่านั้น พวกเขาก็จะพบกับความพินาศ และประเทศชาติของพวกเขาก็จะประสบกับความเสียหาย ผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขาจะหลุดลอยไป และจะทำให้พวกเขาขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ”
4. ผลทางด้านเศรษฐกิจของฮัจญ์
ตรงข้ามกับสิ่งที่บางคนคาดคิด นั้นก็คือ การใช้ประโยชน์จากการชุมนุมอันยิ่งใหญ่ของฮัจญ์ เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจแก่ประเทศอิสลาม ซึ่งนอกจากจะไม่ขัดแย้งต่อจุดมุ่งหมายและจิตวิญญาณของฮัจญ์แล้ว ในทางกลับกัน ตามทัศนะจากคำรายงานของอิสลาม สิ่งดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งจากปรัชญาของการทำฮัจญ์
จะเป็นอุปสรรคประการใดหรือในการที่บรรดามุสลิมจะวางรากฐานตลาดร่วมแห่งอิสลามขึ้น และจัดเตรียมปัจจัยต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนและการค้าขายขึ้นในหมู่พวกเขากันเอง ในลักษณะที่ผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขาจะได้ไม่ไหลไปสู่กระเป๋าของศัตรูของพวกเขา และเศรษฐกิจของพวกเขาจะได้ไม่ผูกติดอยู่กับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นการบูชาวัตถุและลุ่มหลงในโลกียะ แต่มันคืออิบาดะฮ์และการญิฮาด
และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ในคำรายงานของท่านฮิชาม บินฮะกัม จากท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก(อ.) ข้างต้น เป็นการอธิบายถึงปรัชญาต่างๆของฮัจญ์ ซึ่งท่านได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประเด็นที่ว่า เป้าหมายประการหนึ่งของฮัจญ์ คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการค้าของมวลมุสลิม และทำให้การติดต่อสัมพันธ์กันทางด้านเศรษฐกิจระหว่างพวกเขาเกิดความง่ายดายขึ้น
และในคำรายงานอีกบทหนึ่งจากอิมามซอดิก(อ.) ในการอรรถาธิบายโองการที่ 198 จากซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ ซึ่งอัลลอฮ์(ซบ.)ทรงตรัสว่า
لَیْسَ عَلَیْکُمْ جُنَاحٌ أَن تَبْتَغُواْ فَضْلاً مِّن رَّبِّکُمْ
“ย่อมไม่เป็นความผิดแต่ประการใดสำหรับพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะแสวงหาความโปรดปรานอย่าหนึ่งอย่างใดจากองค์พระผู้อภิบาลของพวกเจ้า”
โดยท่านอิมาม(อ.) ได้กล่าวว่า
یعنی الرّزق اذا احلّ الرّجل من احرامه و قضی نسکه فلیشترو لیبع فی الموسم
“จุดประสงค์ของโองการนี้คือการแสวงหาปัจจัยยังชีพ (ริษกี) ดังนั้น เมื่อบุคคลใดก็ตามที่ได้ปลดเปลื้องจากการครองอิห์รอมแล้ว ดังนั้น เขาก็จงทำการซื้อและขายในเทศกาลฮัจญ์นั้นเถิด” (7)
ฉะนั้น ในเรื่องของการค้าขายและการประกอบธุรกิจในเทศกาลฮัจญ์ นอกจากจะไม่เป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นบาปแล้ว ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นสิ่งที่ดีงามและได้รับการส่งเสริมจากศาสนาอีกด้วย
และในความหมายเดียวกันนี้ จากคำรายงานของอิมามริฎอ(อ.) ในการอธิบายถึงปรัชญาต่างๆ ของฮัจญ์ ในตอนท้ายของคำพูดของท่านได้อ้างอิงโองการที่ 28 จากซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ ซึ่งอัลลอฮ์(ซบ.) ทรงตรัสเกี่ยวกับการบัญญัติการทำฮัจญ์ว่า
لِيَشْهَدُوا مَنَافِعَ لَهُمْ
“เพื่อพวกเขาจะได้ประจักษ์ถึงผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขา”
การอ้างอิงด้วยโองการนี้ เป็นการบ่งชี้อย่างครอบคลุมทั้งผลประโยชน์ทางด้านจิตวิญญาณและผลประโยชน์ทางด้านวัตถุ ซึ่งหากพิจารณาจากมุมหนึ่งแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้คือเรื่องของจิตวิญญาณนั่นเอง
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การอิบาดะฮ์อันยิ่งใหญ่นี้ หากได้รับการปฏิบัติและถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ ในช่วงที่บรรดาฮุจญาจพำนักอยู่ในแผ่นดินนี้ และในขณะที่หัวใจของพวกเขามีความพร้อมนั้น หากพวกเขาได้ใช้โอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ในการเยียวยาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนานัปการของสังคมอิสลาม โดยการจัดการประชุมต่างๆ ทางด้านการเมือง ด้านจริยธรรมและเศรษฐกิจขึ้นแล้ว การอิบาดะฮ์ดังกล่าวนี้ย่อมสามารถที่จะให้การเยียวยาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในทุกแง่มุมได้
และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่ท่านอิมามซอดิก(อ.) ได้กล่าวว่า
«لا يَزَالُ الدِّينُ قَائِماً مَا قَامَتِ الْكَعْبَة»
“ศาสนาจะยังคงดำรงอยู่ ตราบเท่าที่กะอ์บะฮ์ยังคงดำรงอยู่” (8)
แหล่งอ้างอิง :
1)- ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ / 27-28
2)- บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 99, หน้าที่ 26
3)- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , ฮิกมะฮ์ที่ 244
4)- ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ / 27-28
5)- ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน /อายะฮ์ที่ 103
6)- ซูเราะฮ์อัซซะบะอ์ / อายะฮ์ที่ 46
7)- ตัซีรอัยยาชี, เล่มที่ 1 , หน้าที่ 96 , ฮะดีษที่ 262 ; ตัฟซีรอัลบุรฮาน , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 201 , ฮะดีษที่ 1
8)- วะซาอิลุชชีอะฮ์ , เล่มที่ 5 , หน้าที่ 16
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
source : alhassanain