ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้ถือกำเนิดในนครมักกะฮ์ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 หรือในอีกรายงานหนึ่งก็กล่าวว่า ในวันที่ 17 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในปี ค.ศ.570 ปีที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ถือกำเนิดนั้นเป็นปีที่อุปราชอับรอฮะฮ์แห่งอบิสสิเนีย (เอธิโอเปียปัจจุบัน) กรีฑาทัพช้างเข้าโจมตีนครมักกะฮ์ เพื่อทำลายกะอ์บะฮ์อันศักดิ์สิทธิ์ แต่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ได้ทรงพิทักษ์รักษานครมักกะฮ์ ด้วยการส่งกองทัพนกที่คาบกรวดหินลงมาทิ้งใส่กองทัพของอับรอฮะฮ์ จนไพร่พลต้องล้มตายระเนระนาด เนื้อตัวทะลุดุจดั่งใบไม้ที่ถูกหนอนกัดกิน อุปราชอับรอฮะฮ์จึงจำต้องถอยทัพกลับไปด้วยความพ่ายแพ้อย่างอัปยศเว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม
ในปีเดียวกันนั้นมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในเปอร์เซีย เป็นเหตุให้ราชวังอะนูชิรวานของจักรพรรดิเปอร์เซียสั่นสะเทือนจนถึงรากเง่า และพังทลายลง ยังผลให้ไฟศักดิ์สิทธิ์ในวิหารบูชาไฟของพวกโซโรแอสเตอร์ที่ลุกอยู่นานเป็นพันปีนั้นต้องมอดดับลงไปด้วย
บิดาของศาสดามุฮัมมัด (ศ.) คือท่านอับดุลลอฮ์ เป็นบุตรคนสุดท้องของท่านอับดุลมุฏฏอลิบ แห่งเผ่ากุเรช ผู้ได้รับเกิยรติให้คุ้มครองบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซัมซัม ริมอัลกะอ์บะฮ์ ท่านอับดุลลอฮ์ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนที่ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา ท่านหญิงอามีนะฮ์ สตรีแห่งเผ่าศุหฮ์เราะฮ์
ท่านอับดุลมุฏฏอลิบผู้เป็นปู่ได้ขนานนามท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ว่า "มุฮัมมัด" แปลว่าผู้ที่ได้รับการสรรเสริญ เป็นนามที่ยังไม่มีผู้ใดใช้มาก่อนเลย เมื่อถือกำเนิดได้เพียงไม่นาน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ก็จำต้องไปอยู่กับแม่นมรับจ้างซึ่งมีนามว่า ฮะลีมะฮ์ แห่งเผ่าซะอัด ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกนครมักะฮ์ ทั้งนี้เป็นเพราะประเพณีดั้งเดิมของชาวอาหรับ เมื่อต้องการให้บุตรของตนเติบโตขึ้นในชนบท เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมของชาวอาหรับพื้นเมืองที่แท้จริง
และแล้วท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ก็ต้องสูญเสียมารดาของท่านในขณะที่ท่านมีอายุแค่ 6 ขวบ ต่อมาท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) จึงอยู่ในความอุปการะของท่านอับดุลมุฏฏอลิบ ปู่ของท่านเอง อีกสองปีต่อมา ท่านปู่ก็จากไปอีกคน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) จึงอยู่ในความดูแล ของอะบูฏอลิบผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นผู้มีเกิยรติคนหนึ่งในเผ่ากุเรชเช่นเดียวกัน
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ก็เหมือนกับชาวอาหรับทั่วไปคือเป็นคนไม่รู้หนังสือ ท่านอ่านและเขียนหนังสือไม่เป็นตลอดชีวิตของท่าน นักประวัติศาสตร์รายงานว่าในสมัยนั้นมีคนที่อ่านออกเขียนได้ในนครมักกะฮ์ เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ชาวอาหรับในสมัยนั้นถูกขนานนามว่า ชนผู้อ่านเขียนไม่เป็น
ในวัยหนุ่มท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ไว้วางใจได้ มีใจเมตตาการุณ และจริงใจ จนกระทั่งผู้คนในสมัยนั้นให้สมญานามท่านว่า "อะมีน" หรือผู้สัตย์จริง แม้ผู้คนในสมัยนั้นจะเคารพบูชารูปเจว็ด และเทวรูปต่างๆ แต่ศาสดามมุฮัมมัด (ศ.) ก็ไม่เคยเข้าร่วมในพิธีการบูชารูปปั้นทั้งหลายเลยแม้ครั้งเดียว เพราะครอบครัวของศาสดามุฮัมมัด (ศ.) นับถือศาสนาแห่งศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของท่าน
เมื่อศาสดามุฮัมมัดมีอายุได้ 20 ปี กิตติศัพท์แห่งคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความสามารถในการค้าขายเลื่องลือไปถึงหูของคอดีญะฮ์ เศรษฐีนีหม้ายผู้มีเกิยติจากตระกูลอะซัดแห่งเผ่ากุเรช นางจึงเชิญให้ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) เป็นผู้จัดการธุรกิจค้าขายของนางในเวลาต่อมา โดยให้ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) นำสินค้าไปขายยังประเทศซีเรียในฐานะหัวหน้ากองคาราวาน ปรากฏผลว่าการค้าดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และได้กำไรเกินความคาดหมาย จึงทำให้นางพอใจในความสามารถ และความซื่อสัตย์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ.) เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อศาสดามุฮัมมัด (ศ.) อายุ 25 ปี ท่านก็ได้สมรสกับคอดีญะฮ์ ซึ่งมีอายุมากกว่าถึง 15 ปี ประการแรกที่ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้ปฏิบัติหลังสมรสได้ไม่กี่วัน ก็คือการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ซึ่งในสมัยนั้นน้อยนักที่จะมีผู้ปฏิบัติเช่นนั้น ทั้งสองได้ใช้ชีวิตครองคู่กันเป็นเวลา 25 ปี มีบุตรีดว้ยกัน 6 คน คนโตชื่อ กอซิม และอับดุลลอฮ์ บางคนเรียกว่า ฏอเฮร หรือฏอยยิบ มีบุตรสาว 4 คน อิบนุฮิชามบันทึกว่า บุตรสาวคนโตชื่อ รุกอยยะฮ์ ซัยหนับ อุมมุกุลซูม และฟาติมะฮ์ ท่านหญิงเคาะดีญะฮ์ (ซ.) เสียชีวิตปี ค.ศ. 619 ก่อนที่ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) จะลี้ภัยไปยังเมืองยัสริบ 3 ปี
เมื่ออายุ 30 ปี ท่านได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหพันธ์ ฟุฎูล อันเป็นองค์การพิทักษ์สาธารณภัยประชาชน เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน กิจการประจำวันของท่าน ก็คือ ประกอบแต่กุศลกรรม ปลดทุกข์ขจัดความเดือดร้อน ช่วยเหลือผู้ตกยาก บำรุงสาธารณกุศล
เมื่ออายุ 35 ปี ได้เกิดมีกรณีขัดแย้งในการบูรณะสถานกะอ์บะฮ์ ในเรื่องที่ว่าผู้ใดกันที่จะเป็นนำเอาหินดำ ไปประดิษฐานไว้สถานที่เดิมคือที่มุมของสถานกะอ์บะฮ์ อันเป็นเหตุให้คนทั้งเมืองเกื อบจะรบราฆ่าฟันกันเองเพราะแย่งหน้าที่อันมีเกียรตินั้น
หลังจากการถกเถียงในที่ประชุมเป็นเวลานนาน บรรดาหัวหน้าตระกูลต่างๆ ก็มีมติว่า ผู้ใดก็ตามที่เป็นคนแรกที่เข้ามาใน มัสญิดอัลฮะรอม ทางประตูบนีชัยบะฮ์ในวันนั้น จะให้ผู้นั้นเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะทำอย่างไร ปรากฏว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) เป็นคนแรกที่เดินเข้ามา ท่านจึงมีอำนาจในการชี้ขาดทันที โดยท่านเอาผ้าผืนหนึ่งปูลง แล้วท่านก็วางหินดำลงบนผืนผ้านั้น จากนั้นก็ให้หัวหน้าตระกูลต่าง ๆ จับชายผ้ากันทุกคน แล้วยกขึ้นพร้อมๆ กัน เอาไปใกล้ๆ สถานที่ตั้งของหินดำนั้น แล้วตัวท่านศาสดาเองก็เป็นผู้นำเอาหินดำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม
ชาวอาหรับสมัยนั้นเชื่อว่า อัลลอฮ์เป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาลตามคำสอนดั้งเดิมของบรรพบุรุษอาหรับคือศาสดาอิสมาอีล และศาสดาอิบรอฮีม ผู้ก่อตั้งสถานกะอ์บะฮ์ แต่ในขณะเดียวก็บูชาเทวรูป และผีสางอีกด้วย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกเรียกว่า มุชริกูน (ผู้ปฏิเสธ) นอกจากนี้ยังมีอาหรับส่วนหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสเตียน และในยัสริบก็มีชาวยิวหลายตระกูลอาศัยอยู่อีกด้วย
เมื่อศาสดามุฮัมมัด (ศ.) อายุ 40 ปี ท่านได้รับการวิวรณ์ หรือ วะฮ์ยู จากอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า ณ ถ้ำฮิรออ์ ซึ่งอยู่บนภูเขาลูกหนึ่งนอกนครมักกะฮ์ โดยฑูตสวรรค์ (ญิบรีล) เป็นผู้นำมาบอกเป็นครั้งแรก เรียกร้องให้ท่านรับหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาของอัลลอฮ์ดั่งที่ศาสดามูซา (โมเสส) ศาสดาอีซา (เยซู) เคยทำมา นั่นคือประกาศให้มวลมนุษย์นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว ท่านได้รับพระโองการติดต่อกันเป็นเวลา 23 ปี พระโองการเหล่านี้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มเรียกว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
ในตอนแรกท่านเผยแพร่ศาสนาแก่วงศ์ญาติและเพื่อนใกล้ชิดเป็นการภายในก่อน ท่านหญิงคอดีญะฮ์ (ซ.) เองได้สละทรัพย์สินเงินทองของท่านไปมากมาย และท่านอบูฏอลิบก็ได้ปกป้องหลานชายของตนด้วยชีวิต ต่อมาท่านได้รับโองการจากพระเจ้าให้ประกาศเผยแพร่ศาสนาโดยเปิดเผย ทำให้ญาติพี่น้องในตระกูลเดียวกัน ชาวกุเรช และอาหรับเผ่าอื่นๆ ที่เคยนับถือท่าน พากันโกรธแค้น ตั้งตนเป็นศัตรูกับท่านอย่างรุนแรง ถึงกับวางแผนสังหารท่านหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ อบูซุฟยาน แห่งตระกูลอุมัยยะฮ์ และ อบูญะฮัล คือสองในจำนวนหัวหน้าผู้ปฏิเสธที่ได้พยายามทำลายล้างศาสนาอิสลาม
สาวกกลุ่มหนึ่งต้องหนีออกจากนครมักกะฮ์เข้าลี้ภัยในอบิสสิเนีย กษัตริย์นัญญาชี (เนเกช) แห่งอบิสสิเนียที่นับถือคริสตศาสนา ก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ภายหลังเขาก็เข้ารับนับศาสนาอิสลาม
แม้ว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) จะลี้ภัยไปอยู่ในนครมดีนะฮ์แล้ว ท่านก็ยังถูกบรรดาผู้ปฏิเสธ จากนครมักกะฮ์ยกพลมารุกรานโจมตีนครมดีนะฮ์ไม่ขาดสาย ทำให้ท่านนศาสดาต้องเกณฑ์ไพร่พลออกต่อสู้ข้าศึกนอกเมืองหลายครั้งเป็นเวลาหลายปี ศึกสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นได้แก่สงครามบะดัร สงครามคอนดัก แต่ท้ายที่สุดเมื่อบรรดาผู้ปฏิเสธเหล่านั้น ไม่สามารถเอาชนะรัฐอิสลามได้ จึงได้มีการทำสัญญาสงบศึกกันในเดือนมีนาคม ค.ศ. 628เรียกสัญญาสงบศึกครั้งนั้นว่า สนธิสัญญาสงบศึก ฮุดัยบียะฮ์
ต่อมาในอีกหนึ่งปี ชาวนครมักกะฮ์ได้ละเมิดสัญญาสงบศึก ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) จึงนำทหาร 1000 คนเข้ายึดนครมักกะฮ์ในเวลาต่อมา และท่านศาสดาจึงได้ประกาศนิรโทษกรรมให้ชาวนครมักกะฮ์เกือบทั้งหมดยกเว้นบางคน ในจำนวนนั้นมี อัลฮะกัม แห่งตระกูลอุมัยยะฮ์ ที่ท่านศาสดาได้ประกาศให้ทุกคนบอยคอตเขา
การนิรโทษกรรมครั้งนี้มีผลให้ชาวนครมักกะฮ์ซาบซึ้งในความเมตตาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) พวกเขาจึงพากันหลั่งใหลเข้านับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก
ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้สิ้นชีวิตที่นครมดีนะฮ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 เดือนศอฟัร ฮ.ศ.ที่ 11 ซึ่งตรง ปี ค.ศ. 632 รวมอายุได้ 63 ปี
ขอขอบคุณเว็บไซต์อะฮ์ลุลบัยต์อะคาเดมี