ย้อนรอย:เมืองมักกะฮ์และมัสยิดอัลฮะรอม ตอนที่ 2 เกียรติแห่งวงศ์วานของศาสดาอิบรอฮีม(อ.)
ณ แผ่นดินฮิญาซ
เกียรติแห่งวงศ์วานของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และการเริ่มต้นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ของชาวอาหรับ
เมื่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และศาสดาอิสมาอีล (อ.) สร้างวิหารหารกะอ์บะฮ์ขึ้นมาใหม่แล้ว ตัวท่านศาสดาเอิบรอฮีม (อ.) ก็เดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่ปาเลสไตน์กับท่านหญิงซาเราะฮ์ภรรยาของท่านอีกคนหนึ่ง และมีบุตรคือศาสดาอิศฮาก (อ.) ซึ่งเป็นบิดาของศาสดายะอ์กูบ (อ.) ศาสดายะอ์กูบ (อ.) มีฉายาหนึ่งคือ “อิสรออีล” ดังนั้นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากศาสดายะอ์กู๊บ (อ.) จึงถูกเรียกว่า “บนีอิสรออีล” หรือวงศ์วานของอิสรออีล ได้แก่ชนชาติยิวในปัจจุบัน
ท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) ใช้ชีวิตอยู่กับมารดาคือท่านหญิงฮาญัรที่แผ่นดินฮิญาซ และแต่งงานกับสตรีจากเผ่าญุรฮุมที่เป็นชาวอาหรับ ท่านจึงเป็นบรรพบุรุษของชาวอาหรับ และเริ่มมีชุมชนเล็กๆ รอบๆ
วิหารกะอ์บะฮ์และบ่อน้ำซัมซัม คาราวานที่เดินทางไปมาระหว่างเยเมน ซีเรียและอียิปต์ จะแวะพักที่นี่
จนกลายเป็นสถานีการค้าระหว่างทาง
เมื่อท่านหญิงฮาญัรสิ้นชีวิต ศพของท่านถูกฟังไว้เคียงข้างบัยตุลลอฮ์ ในปัจจุบันจะอยู่ระหว่างบัยตุลลอฮ์กับแนวหินอ่อนโค้งสีขาว (ดูภาพที่ 1 และ 2 ประกอบ)
เดิมผนังของวิหารกะอ์บะฮ์จะยาวปกคลุมบริเวณหินโค้งสีขาว แต่การก่อสร้างในสมัยหลังได้หดลงมา จึงมีการสร้างแนวหินโค้งที่เรียกว่า “ฮาตีม” เพื่อให้รู้ว่าการเวียนรอบวิหารกะอ์บะฮ์นั้นห้ามเดินเข้ามาเลยแนวหินโค้ง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิหารกะอ์บะฮ์
ดังนั้นการที่ท่านหญิงฮาญัรถูกฝังไว้บริเวณหินโค้งก็เท่ากับว่า ร่างของท่านถูกฝังอยู่ในบัยตุลลอฮ์หรือบ้านของอัลลอฮ์เลยทีเดียว นี่คือเกียรติยศของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่แสดงความเชื่อมั่นต่ออัลลอฮ์ อย่างที่สุด ยามที่เธอต้องเผชิญกับความหิวกระหายซึ่งกำลังนำเธอไปสู่ความตาย
เมื่อท่านศาสดาอิสมาอีลสิ้นชีวิต ศพของท่านถูกฝังอยู่บริเวณใต้หินโค้งสีขาว ซึ่งในเวลานั้นก็คือริมผนังของบัยตุลลอฮ์นั่นเอง นี่คือเกียรติยศของบุตรแห่งฮาญัร ที่เผชิญความตายมาพร้อมกับมารดาในวันที่หิวกระหายที่สุดของทั้งสองคน
บุคคลแรกที่ตั้งชุมชนชาวอาหรับที่เป็นลูกหลานของท่านศาสดาอิสมาอีลอย่างถาวรเป็นระบบรอบวิหารกะอ์บะฮ์ คือกุศอย บินกิลาบ เมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 5 โดยกุศอยเป็นผู้ถือกุญแจวิหารกะฮ์บะฮ์ในนามตัวแทนของลูกหลานอิสมาอีล และลูกหลานของกุศอยเป็นผู้ถือกุญแจวิหารกะอ์บะฮ์จนถึงปัจจุบัน
ตระกูลบนีชัยบะฮ์ซึ่งเป็นลูกหลานของกุศอย บินกิลาบ (ค.ศ.400-480) ทางสายของอับดุรดาร บุตรชายคนโต เป็นตระกูลที่ถือกุญแจวิหารกะอ์บะฮ์มาจนถึงปัจจุบัน ตามคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เมื่อครั้งที่ท่านยึดนครมักกะฮ์ได้ใน ค.ศ.629 ดังนั้นเมื่อกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียต้องการเข้าไปภายในวิหารกะอ์บะฮ์ต้องขออนุญาตพวกเขา
ตระกูลบนีชัยบะฮ์สืบเชื้อสายมาจากอุศมาน บินฏอลฮะฮ์ ซึ่งเป็นลูกหลานของอับดุรดาร อับดุรดารผู้นี้เป็นพี่ชายของอับดุลมานาฟบรรพบุรุษของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และท่านอิมามอะลี (อ.) และเป็นพี่ชายของอับดุลอุซซาบรรพบุรุษของท่านหญิงคอดิยะฮ์ ภรรยาของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ผู้เป็นมารดาของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ในวันที่ท่านยึดนครมักกะฮ์ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับอุศมาน บินฏอลฮะฮ์ว่า :
خُذُوهَا ، يَعْنِي حِجَابَةَ الْكَعْبَةِ ، يَا بَنِي طَلْحَةَ خَالِدَةً تَالِدَةً لا يَنْزَعُهَا مِنْكُمْ إِلا ظَالِم
“จงรับมันไป โอ้บนีฏอลฮะฮ์ ตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮ์ และมันจะไม่ถูกนำไปจากพวกท่าน ยกเว้นผู้เป็นทรราชที่กดขี่และอยุติธรรม”
ผู้ถือกุญแจวิหารกะอ์บะฮ์คนปัจจุบันที่มาจากตระกูลบนีชัยบะฮ์ คือเชคอับดุลกอดิร อัชชัยบีย์ (ดูภาพประกอบ) ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 108 นับจากอุศมาน บินฏอลฮะฮ์ และนับเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ตระกูลอัชชัยบีย์มิได้ยอมรับในแนวทางวะฮะบีย์ ทุกปีเมื่อถึงเดือนรอบีอุลเอาวัล จะมีการจัดเมาลิดที่บ้านของท่าน และมีประชาชนมาร่วมงานมากมายจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียไม่กล้าเข้าไปแตะต้อง เนื่องจากคำสั่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ข้างต้นที่กล่าวว่า ใครละเมิดสิทธิของตระกูลบนีชัยบะฮ์ก็คือทรราชนั่นเอง!!
ตามประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวรอบ ๆ วิหารกะอ์บะฮ์ ซึ่งเสมือนเป็นบ้านของพระผู้เป็นเจ้า แต่เต็มไปด้วยเทวรูปที่ชาวอาหรับให้การเคารพภักดีร่วมไปกับการเคารพภักดีอัลลอฮ์ (ซบ.) ด้วย ซึ่งคือการตั้งภาคีต่อพระองค์นั่นเอง ยกเว้นลูกหลานของอิสมาอีลส่วนหนึ่ง ที่นำโดยกุศอยเท่านั้นที่ยังยึดมั่นอยู่ในหลักศรัทธาของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) บรรพบุรุษของพวกเขา
บุคคลแรกที่เปลี่ยนแปลงศาสนาของศาสดาอิสมาออีล (อ.) คืออะมาร อิบนิลุฮัย อัลคุซาอี เมื่อประมาณศตวรรษที่ 1 โดยนำเอาเทวรูปมาจากเมืองชาม ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันที่เขาเดินทางไปค้าขาย มาประดิษฐานไว้ที่วิหารกะอ์บะฮ์ และแนะนำประชาชนว่าให้เคารพภักดีเทวรูปนี้ร่วมกับอัลลอฮ์ (ซบ.) เมื่อได้รับการยอมรับเขาจึงนำเอาเทวรูปมาประดิษฐานเพิ่ม จนกระทั่งไม่นานนักภายในและรอบ ๆ วิหารกะอ์บะฮ์ก็เต็มไปด้วยเทวรูปมากถึง 360 รูป และแพร่กระจายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับในเวลาไม่นาน นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงวันเวลาที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถือกำเนิด การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ก็ดำเนินตลอดมา...
source : alhassanain