นที่ 27 รอญับ เป็นวันเฉลิมฉลองทิ่ยิ่งใหญ่วันหนึ่งในโลกอิสลาม มันเป็นวันแห่งการมับอัษ การแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ให้เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ อย่างเป็นทางการ
วันมับอัซ : วันยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา
โดย ซัยยิด อะลี ชาห์บาซ
แต่ทว่า… มันมีความสำคัญอย่างไรที่เราจะต้องทำการเฉลิมฉลองกันทุกปีในวันที่ 27 รอญับ?
มันเป็นเพียงวันแห่งการรำลึกถึง เมื่อเทวทูตญิบรีลลงมายังภูเขานูรฺ ในถ้ำฮิรออฺ เพื่อนำโองการจากอัล-กุรอานไม่กี่โองการมาสั่งให้มุฮัมมัด อิบนฺ อับดุลลอฮฺ(ศ.) ชายวัย 40 ปี ผู้ไม่รู้หนังสือว่า “จงอ่าน ด้วยพระนามของพระผู้อภิบาลของเจ้า พระผู้สร้าง ผู้สร้างมนุษย์มาจากก้อนเลือด จงอ่าน และพระผู้อภิบาลของเจ้านั้นทรงสูงส่งยิ่ง ผู้สอน(ให้เขียน)ด้วยปากกา สอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้…” เท่านั้นเองหรือ?
มันเป็นแค่วันที่หมายถึงการแต่งตั้งศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ให้เป็นศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า เท่านั้นเองหรือ?
ถ้าเข้าใจว่าวันนี้มีความหมายเพียงแค่นั้น ก็เท่ากับว่ามุสลิมยังไม่มีความเข้าใจดีพอในความสำคัญของวันมับอัษ
แท้ที่จริงแล้ว มับอัษ ซึ่งหมายถึงการกลับฟื้นคืนมาใหม่ เป็นวันที่สำคัญมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา มันไม่ใช่แค่เป็นการฟื้นคืนมาใหม่ในคุณค่าของมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการฟื้นจุดมุ่งหมายพื้นฐานของชีวิตและเป้าหมายที่มนุษยชาติกำลังมุ่งไป ด้วยเหตุนี้ มันจึงมีความสำคัญมากยิ่งกว่าการสร้างศาสดาอาดัม(อ.) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ มันสำคัญยิ่งกว่าการแยกน้ำทะเลของศาสดามูซา(อ.) มีคุณค่ามากยิ่งกว่าวันถือกำเนิดอย่างปาฏิหาริย์ของศาสดาอีซา(อ.) ที่เกิดจากท่านหญิงมัรยัม(อ.) มารดาผู้เป็นพรหมจรรย์ของท่าน
อีกนัยหนึ่ง มับอัษ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เองในภูมิประเทศแห้งแล้งของคาบสมุทรอาหรับ แต่มันเป็นเครื่องหมายในประวัติศาสตร์ที่แยกความดีออกจากความชั่ว และกลั่นกรองความถูกต้องออกจากความผิด ซึ่งเป็นการเตรียมมนุษยชาติให้พร้อมโดยผ่านบรรดาศาสนทูตจากพระเจ้าที่มีมาอย่างยาวนานและไม่ขาดสายตลอดหลายยุคหลายสมัยและในภูมิภาคต่างๆ กัน เพื่อสร้างทัศนคติที่พร้อมสำหรับสาส์นแห่งสากลเพียงหนึ่งเดียว นั่นคืออัล-อิสลาม
เมื่อมองดูสภาพของสังคมมนุษย์ในช่วงก่อนและหลังการประกาศภารกิจของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) จะสามารถยืนยันถึงประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือเหตุผลที่ทำให้สังคมในยุคก่อนอิสลาม ซึ่งนอกจากชาวอาหรับแล้ว ยังหมายถึงนานาอารยะของโลกอย่างโรมัน, เปอร์เซีย, จีน, อินเดีย และอื่นๆ ล้วนถูกเรียกว่าเป็นสังคมแห่งญาฮีลียะห์ หรือยุคแห่งความโง่เขลา
สังคมเหล่านั้นในยุคก่อนอิสลาม ก่อนวันแห่งมับอัษที่ยิ่งใหญ่ แม้จะประสบความสำเร็จด้านอำนาจและวัตถุสักเพียงใดก็ตาม อารยธรรมเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ขาดซึ่งหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีในศาสนาแห่งพระเจ้าองค์เดียว ที่มีพื้นฐานบนความเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยการแบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติ ภาษา และชนชั้น, มีความยุติธรรมในสังคม, สิทธิของสตรีในทรัพย์สิน หรือการแต่งงานตามที่ตนพอใจ ได้รับการปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีด้วยการดำรงตนอย่างอ่อนน้อมภายใต้ฮิญาบที่จะไม่มีใครล่วงละเมิดได้, มีความเมตตากรุณา, ให้อภัย, เอื้อเฟื้อเผื่อแฟ่, สัจจะวาจา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยส่งเสริมสันติภาพและภราดรภาพในสังคมมนุษย์
ดังนั้น เครื่องหมายของการมับอัษ จึงหมายถึงการพลิกฟื้นสิ่งเหล่านั้นให้มาเป็นหลักธรรมที่จะทำให้มุสลิมเป็นผู้นำในการสร้างประชาชาติแห่งอิสลามที่แท้จริง
ภารกิจของศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้ถูกแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้วในคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมด ซึ่งหมายถึงวันที่ 27 รอญับ เป็นวันแห่งการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากพระผู้เจ้าแก่มนุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งกล่าวในฮะดีษที่มีชื่อเสียงของท่านว่า “ฉันเป็นศาสดาเมื่อครั้งที่อาดัมยังอยู่ในสภาพระหว่างน้ำและดิน(ยังไม่ถูกสร้าง)”
“และบรรดาผู้ปฏิเสธ ศรัทธากล่าวว่า ‘ท่านมิใช่เป็นผู้ได้รับแต่ตั้ง’ จงกล่าวเถิด ‘เพียงพอแล้วที่อัลลอฮทรงเป็นพยานระหว่างฉันกับพวกท่าน และผู้ที่เขามีความรู้ในคัมภีร์'” (อัล-กุรอาน 13/43)