ความอดทน (ซ็อบร์)
หนึ่งในคุณลักษณะที่ดีงามและสำคัญยิ่งของมนุษย์ คือ คุณลักษณะของความอดทนและความอดกลั้น
ความอดทน (ซ็อบร์) คือ สภาพอย่างหนึ่งทางด้านจิตใจ ซึ่งถ้าหากไปถึงยังระดับสูงสุดของมัน ความอดทนดังกล่าวจะเป็นตัวยับยั้งมนุษย์จากความไม่มั่นคง ความวิตกกังวล การพร่ำบ่นหรือโอดครวญต่อกำหนด (กอฏอฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าจากภัยพิบัติและความทุกข์ยากต่างๆ
และเขาจะมีพลังอำนาจในการยืนหยัดทัดทานอารมณ์และความต้องการต่างๆ ของจิตใจ และจะเกิดความมั่นคงในการปฏิบัติสิ่งที่เป็น
ข้อบังคับ(วาญิบาต) และการเชื่อฟัง (ฏออัต) ต่อพระผู้เป็นเจ้า
ด้วยเหตุนี้เองจากแหล่งอ้างอิงต่างๆ ทางศาสนา ความอดทน (ซ็อบร์) จึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ :
ความอดทนต่อบะลาอ์ (ความทุกข์ยาก) และภัยพิบัติ (มุซีบะฮ์) ต่างๆ ที่มาประสบซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่สิ่งที่ดีงามไปกว่านั่น คือ
การอดทนต่อการเชื่อฟัง (ฎออัต) และการยอมตนเป็นบ่าวที่ดีของพระผู้เป็นเจ้า และที่ดีงามยิ่งกว่าทั้งหมดนั้น คือ การอดทนอดกลั้นและการยืนหยัดต้านทานความชั่วและอารมณ์ใคร่ทั้งหลาย (1)
ความอดทน (ซ็อบร์) ในคัมภีร์อัลกุรอาน
ใน คัมภีร์อัลกุรอานนั้น มีโองการจำนวนมากมายที่กล่าวถึงความอดทนและการยืนหยัด บางครั้งพระผู้เป็นเจ้าจะทรงบัญชาต่อบรรดาศาสดาและบรรดาผู้ศรัทธาให้มีความอดทน ตัวอย่างเช่น
واصبر علی ما اصابك ان ذلك من عزم الامور
“และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า เพราะแท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการแน่วแน่มั่นคง” (2)
فاصبر ان وعد الله حق
“ดังนั้นเจ้าจงอดทนเถิด แท้จริงสัญญาของอัลลอฮ์นั้นคือสัจธรรม” (3)
และบางครั้งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงมีบัญชาให้มนุษย์กำชับและตักเตือนกันในเรื่องของความอดทน ตัวอย่างเช่น
«وتواصو بالصبر»
“และพวกเจ้าจงแนะนำสั่งเสียกันให้มีความอดทนเถิด” (4)
และบางครั้งคัมภีร์อัลกุรอานจะส่งเสริมและบอกข่าวดีแก่บรรดาผู้มีความอดทนในรูปสำนวนต่างๆ ตัวอย่างเช่น
«وبشر الصابرين »
“และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด” (5)
«والله يحب الصابرين »
“และอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้อดทน” (6)
ان الله مع الصابرين
“และอัลลอฮ์ทรงอยู่กับบรรดาผู้อดทน” (7)
และในโองการหนึ่งได้ใช้ให้เราของความช่วยเหลือโดยผ่านความอดทน
«استعينوا بالصبر»
“และจงแสวงหาความช่วยเหลือโดยอาศัยความอดทนเถิด” (8)
ในบางโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ชี้ให้เห็นถึงผลรางวัลของความอดทนอดกลั้น ตัวอย่างเช่นในโองการต่างๆ ต่อไปนี้
ولنجزين الذين صبروا اجرهم باحسن ما كانوا يعملون
“และแน่นอนยิ่ง เราจะตอบแทนรางวัลแก่บรรดาผู้ที่อดทน ซึ่งรางวัลของพวกเขาที่ดีกว่าสิ่งที่พวกเขาได้เคยปฏิบัติไว้” (9)
ونعم اجر العاملين الذين صبروا
“และช่างเป็นรางวัลสำหรับบรรดาผู้ประพฤติ (ความดีงาม) ที่ยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร คือบรรดาผู้ซึ่งมีความอดทน” (10)
انما يوفی الصابرون اجرهم بغير حساب
“อันที่จริงบรรดาผู้ที่มีความอดทน พวกเขาจะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างครบถ้วนโดยไม่มีการคำนวณ” (11)
ความอดทน (ซ็อบร์) ในริวายะฮ์ (คำรายงาน)
ใน คำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ได้มีการกล่าวถึงในเรื่องราวของความอดทน (ซ็อบร์) ไว้ในหลายถ้อยความที่ทรงคุณค่า
ตัวอย่างเช่น
1. ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
الصبر كنز من كنوز الجنة
“ความอดทน คือขุมคลังหนึ่งจากบรรดาขุมคลังของสวรรค์” (12)
2. ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
الصبر عون علی كل امر
“ความอดทน คือ สื่อช่วยเหลือใน (ความสำเร็จและความก้าวหน้าของ) ทุกกิจการงาน” (13)
และท่านยังได้กล่าวอีกว่า
ان صبرت ادركت بصبرك منازل الابرار
“หากท่านมีความอดทนแล้ว ท่านจะไปถึงตำแหน่งต่างๆ ของบรรดาผู้ทรงคุณธรรมอันเนื่องมาจากความอดทนของท่าน” (14)
3. ในอีกคำรายงานหนึ่งท่านได้กล่าวว่า
والصبر رأس الايمان، فلا ايمان لمن لا صبر له
“และความอดทนคือหัวของความศรัทธา ดังนั้นย่อมไม่มีความศรัทธาสำหรับผู้ที่ไม่มีความอดทน” (15)
4. ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
انا صبر و شيعتنا اصبر منا لانا نصبر علی ما نعلم وشيعتنا يصبرون علی ما لا يعلمون
“แท้จริง เราคือผู้ที่มีความอดทนอย่างมาก แต่ชีอะฮ์ของเรานั้นเป็นผู้ที่มีความอดทนยิ่งกว่าเรา ทั้งนี้เนื่องจากพวกเราอดทนต่อสิ่งที่เรารู้ แต่ขณะเดียวกัน ที่ชีอะฮ์ของเราต้องอดทนต่อสิ่งที่พวกเขาไม่รู้” (16)
5. มีรายงานจากท่านมะซีห์อีซา (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า
انكم لا تدركون ما تحبون الا بصبركم علی ما تكرهون
“แท้จริงพวกท่านจะไปไม่ถึงสิ่งที่พวกท่านรัก (และปรารถนา) นอกเสียจากด้วยความอดทนของพวกท่านต่อสิ่งที่พวกท่านมีความรังเกียจ” (17)
6. ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า
من اصابته مصيبة فقال اذا ذكرها «انا لله وانا اليه راجعون » جدد الله له من اجرها مثل ما كان له يوم القيامة
“ผู้ใดก็ตามเมื่อความทุกข์ยากหนึ่งได้มาประสบกับเขา ทุกครั้งเมื่อเขาจะรำลึกถึงมันเขาและกล่าวว่า “อินนาลิลลาฮิ วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน” (แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราจะกลับคืนไปยังพระองค์) ดังนั้นในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) อัลลอฮ์จะทรงตอบแทนรางวัลของมันอีกครั้งให้กับเขา (ตามจำนวนที่เขากล่าวซ้ำ) เหมือนกับ (ผลรางวัลของ) สิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับเขา” (18)
7. ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับผลต่างๆ ของความอดทนว่า
الصبر يظهر ما فی بواطن العباد من النور والصفاء، والجزع يظهر ما فی بواطنهم من الظلمة والوحشة
“ความอดทนจะทำให้รัศมีและความสะอาดบริสุทธิ์ที่อยู่ด้านในของปวงบ่าวปรากฏชัด และความเกรี้ยวกราด (และความไร้ซึ่งการอดทน) จะทำให้ความมืดมนและความป่าเถื่อนที่อยู่ด้านในของพวกเขาปรากฏชัด” (19)
ความอดทนในวิถีชีวิตของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
หากจะให้แนะนำถึงแบบอย่างที่สมบูรณ์และมีความครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับความอดทน และบรรดาผู้ที่อดทนแล้ว
หนึ่งจากบุคคลเหล่านั้น ก็คือท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) หัวหน้าของบรรดาชะฮีด ผู้ซึ่งได้แสดงให้มนุษยชาติได้เห็นถึงความอดทน
ในทุกประเภทและทุกด้านในการดำเนินชีวิต ด้วยพฤติกรรมการแสดงออกของท่าน และด้วยกับการแบกรับความขมขื่นของการอดทนและอดกลั้น ทำให้ผลต่างๆ อันหวานชื่นของมันกลายเป็นโชคผลสำหรับตนเองทั้งในโลกนี้และในปรโลก นับตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ท่านต้องอดทนอดกลั้นและยืนหยัดเผชิญกับความยากจนและความขัดสน อดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆ ที่มาประสบกับมารดาบิดาและพี่ชายของตน อดทนอดกลั้นต่อความอธรรมต่างๆ ของบรรดาผู้อธรรมทั้งหลาย การร่อนเร่ผลัดถิ่นจากเมืองมะดีนะฮ์ไปจนถึงแผ่นดินกัรบะลา ความหิวกระหาย ความหิวโหย การเป็นชะฮีดของน้องๆ ลูกหลานและหมู่มิตรสหาย และความทุกข์ยากอื่นๆ อีกนานับพันประการ ต่อไปนี้เราจะชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างบางส่วนของความอดทนและความอดกลั้นของท่านอิมามฮุเชน (อ.) ที่มีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์และคำรายงานต่างๆ
1. ความอดทนต่อความอธรรมของมุอาวิยะฮ์ :
ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮะซันมุจญ์ตะบา (อ.) ชาวกูฟะฮ์และชาวเมืองอื่นๆ จำนวนหนึ่ง ได้เขียนจดหมายไปถึงท่าน
อิมามฮุเซน (อ.) และขอให้ท่านอิมาม (อ.) ลุกขึ้นต่อสู้ ท่านอิมาม (อ.)เขียนจดหมายตอบพวกเขาไปโดยกล่าวว่า
"ในเรื่องนี้คือการปฏิบัติตามทัศนะของพี่ชายของฉัน (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน) คือการรักษาคำมั่นสัญญาในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาสงบศึก (ซุลฮ์) และทัศนะของฉันนั้นคือการญิฮาดและการต่อสู้กับบรรดาผู้อธรรมที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จและชัยชนะ
ดังนั้นตราบที่มุอาวิยะฮ์ยังมีชีวิตอยู่ พวกท่านก็จงอยู่ในที่มั่นของพวกท่านก่อนเถิด (และจงอดทนอดกลั้นไว้ก่อน)
จงซ่อนเร้นการงานของพวกท่านไว้ อย่าได้เปิดเผยเป้าหมายต่างๆของตน เพื่อว่าพวกท่านจะได้ไม่ตกอยู่ในอันตรายจากการถูกปองร้าย แต่เมื่อใดก็ตามที่มุอาวิยะฮ์ตายลง และฉันเองยังมีชีวิตอยู่ ฉันจะแจ้งทัศนะขั้นสุดท้ายของฉันแก่พวกท่าน อินชาอัลลอฮ์ (หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์)” (20)
ในเนื้อหาของจดหมายข้างต้นนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ให้เห็นถึงทัศนะของท่าน แต่เนื่องจากคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสนธิสัญญาสงบศึก
ที่ท่านอิมามฮะซันมุจญ์ตะบา (อ.) ได้ทำไว้กับมุอาวิยะฮ์ ท่านจึงเรียกร้องให้ทั้งตัวท่านเองและบรรดาผู้ปฏิบัติตามท่านทุกคนให้อดทน และอดกลั้นไว้
ในอีกที่หนึ่งท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า
قد كان صلح وكانت بيعة كنت لها كارها فانتظروا مادام هذا الرجل حيا فان يهلك نظرنا ونظرتم
“แน่นอนยิ่งว่า (ในระหว่างเรานั้น) มีการทำสัญญาสงบศึก (ซุลฮ์) และการให้สัตยาบันที่ฉันเองก็รังเกียจมัน (แต่ฉันจำเป็นต้องอดทนอดกลั้น) ดังนั้นพวกท่านเองก็จงอดทนรอคอยก่อนตราบที่บุรุษผู้นี้ (มุอาวิยะฮ์) ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทันที่ที่เขาตาย เราและพวกท่านจะมาพิจารณาดูกันใหม่ (ในเรื่องนี้)” (21)
2. ความอดทนอดกลั้นต่อการแสดงการดูถูกเหยียดหยามต่อศพ (ญะนาซะฮ์) ของท่านอิมามฮะซัน (อ.) :
เมื่อพิธีการอาบน้ำ (ฆุซุล) และการห่อศพ (ตักฟีน) ท่านอิมามฮะซัน (อ.) สิ้นสุดลง อิมามฮุเซน (อ.) ได้ทำนมาซมัยยิตให้แก่ท่าน
และตั้งใจที่จะนำศพของพี่ชายไปฝังเคียงข้างหลุมศพของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) มัรวาน บินฮะกัม ลูกเขยของอุสมาน ได้ขี่ฬ่อและรีบไปหาท่านหญิงอาอิชะฮ์ และปลุกปั่นนางให้ขัดขวางการกระทำดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานนัก บรรดาผู้คัดค้านจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของอาอิชะฮ์ก็ได้มารวมตัวกัน และพวกเขากล่าวกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า
“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า พวกเราจะไม่ปล่อยให้พวกท่านฝังร่างของฮะซันลงเคียงข้างหลุมฝังศพของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) อย่างแน่นอน”
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวว่า “นี่คือบ้านของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) โอ้อาอิชะฮ์เอ๋ย และท่านเองก็เป็นหนึ่งจากภรรยาทั้งเก้าคนของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) หากจะคิดคำนวณถึงสิทธิของท่านแล้ว ท่านก็มีส่วนในบ้านหลังนี้แค่เพียงตำแหน่งที่ยืนของท่านเท่านั้น”
ในช่วงเวลานั้นเอง บรรดาบนีฮาชิมได้ชักดาบออกจากฝักและเกือบจะมีการต่อสู้กัน แต่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้อดทนอดกลั้นเนื่องจากการปฏิบัติตามคำสั่งเสีย (วะซียัต) ของพี่ชายของท่านที่ว่า อย่าให้มีการหลั่งเลือดกันเกิดขึ้น และ ณ จุดนี้เองท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงได้กล่าวขึ้นว่า
الله الله ان تفعلوا وتضيعوا وصية اخی وقال لعائشة: والله لولا ان ابا محمد اوصی الی ان لا اهريق محجمة دم لدفنته ولو رغم انفك
“ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์ ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์ อย่าได้ทำเช่นนั้น และอย่าได้ทำลายคำสั่งเสีย (วะซียัต) ของพี่ชายของฉัน” และท่านได้กล่าวกับอาอิชะฮ์ว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ หากไม่เป็นเพราะอบูมุฮัมมัด (พี่ชายของฉัน) ได้สั่งเสียไว้ว่า ไม่ให้มีการหลั่งเลือดแม้แต่เพียงหยดเดียวแล้ว ฉันจะฝังเขา (เคียงข้างท่านศาสนทูตนี้) แม้ว่าจมูกของท่านจะต้องถูไถไปกับพื้นดินก็ตาม” (22) แต่อาอิชะฮ์และกลุ่มผู้สนับสนุนของนางไม่ยอมหยุด จึงเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธ โดยที่พวกเขาได้ยิงธนูไปยังศพของท่านอิมามฮะซัน (อ.)
3. เฉพาะผู้ที่มีความอดทนเท่านั้นจงตามฉันไป :
แม้ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะมีผู้ช่วยเหลือและสาวกอยู่จำนวนไม่มากนักก็ตาม แต่ก็มิใช่ว่าท่านจะเรียกร้องเชิญชวนทุกคนให้ช่วยเหลือท่าน และไม่ใช่ว่าท่านจะยอมรับหรือบังคับบุคคลที่ไม่มีความอดทนอดกลั้นให้มาช่วย เหลือท่าน ทว่าท่านได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เฉพาะบรรดาผู้ที่มีความอดทนเท่านั้นจงตามมาและจงอยู่ร่วมกับท่านต่อไป โดยท่านกล่าวว่า
ايها الناس فمن كان منكم يصبر علی حد السيف وطعن الاسنة فليقم معنا و الا فلينصرف عنا
“โอ้ ประชาชนเอ๋ย ผู้ใดจากพวกท่านที่มีความอดทนต่อคมดาบและการทิ่มแทงของหอก ดังนั้นจงยืนหยัดขึ้นพร้อมกับเรา (และอยู่ร่วมกับเรา) และหากมิเช่นนั้นแล้วก็จงแยกทางออกไปจากเราเถิด” (23)
4. อดทนแม้จะมีเพียงคนเดียว :
ในเนื้อหาตอนหนึ่งของจดหมายที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ส่งถึงมุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮ์ ซึ่งท่านเขียนว่า
فمن قبلنی بقبول الحق فالله اولی بالحق ومن رد علی هذا اصبر حتی يقضی الله بينی وبين القوم بالحق
“ดังนั้นผู้ใดที่ยอมรับฉันด้วยการยอมรับต่อสัจธรรม แน่นอนอัลลอฮ์นั้นทรงคู่ควรยิ่งต่อสัจธรรม และผู้ใดที่ปฏิเสธต่อสิ่งนี้ ฉันก็จะอดทนจนกว่าอัลลอฮ์จะทรงตัดสินระหว่างฉันและระหว่างกลุ่มชนด้วย สัจธรรม” (24)
5. วันอาชูรอกับความอดทนที่ไร้ขอบเขตจำกัด :
เมื่อวันอาชูรอมาถึง และการกดดันทางด้านทหาร ความกระหายและปัญหาต่างๆ ได้ถาโถมเข้ามา บรรดาสาวกได้เข้ามาห้อมล้อมท่านอิมาม
ฮุเซน (อ.) และพวกเขามองไปยังใบหน้าของท่านอิมาม เพื่อที่จะดูว่าท่านอิมามจะมีข้อแนะนำอะไรบ้าง ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ฉายภาพที่สวยงามยิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความอดทนให้ทุกคนได้เห็น ซึ่งจะขอกล่าวถึงบางตัวอย่างในที่นี้
(ก) ท่านกล่าวกับบรรดาสาวกด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และด้วยจิตใจที่สงบมั่นว่า
صبرا بنی الكرام فما الموت الا قنطرة عن البؤس والضراء الی الجنان الواسعة والنعيم الدائمة
“จงอดทนเถิด โอ้ลูกหลานผู้มีเกียรติ ความตายนั้นไม่ใช่อื่นใด เว้นแต่เป็นสะพานที่ข้ามผ่านความยากแค้นและความทุกข์ยากไปสู่สรวงสวรรค์อัน กว้างใหญ่ไพศาล และปัจจัยอำนวยสุขอันยังยืน” (25)
และในอีกคำพูดหนึ่งท่านกล่าวว่า
ان الله قد اذن فی قتلكم فعليكم بالصبر
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอนุมัติการถูกสังหาร (และการเป็นชะฮีด) ของพวกท่านแล้ว ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงอดทนเถิด” (26)
(ข) ภายหลังจากที่อะห์มัด บุตรชายของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ออกไปสู่สงครามและย้อนกลับเข้ามาบริเวณค่ายพัก และร้องขอน้ำจากท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นอา ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า
يابنی اصبر قليلا حتی تلقی جدك فيسقيك شربة من الماء لا تظما بعدها ابدا
“โอ้ ลูกรัก จงอดทนอีกเพียงเล็กน้อยเถิด จนกว่าเจ้าจะได้ไปพบกับตาทวดของเจ้า แล้วท่านจะให้น้ำดื่มแก่เจ้า โดยที่เจ้าจะไม่มีความหิวกระหายอีกต่อไปภายหลังจากนั้น” (27)
(ค) ท่านอะลีอักบัรในขณะที่วอนขอน้ำจากท่านอิมาม (อ.) ผู้เป็นบิดา เพื่อที่จะเรียกกำลังในการสู้รบต่อไป ท่านอิมาม(อ.)ได้กล่าวว่า
اصبر حبيبی فانك لاتمسی حتی يسقيك رسول الله بكاسه
“โอ้ ผู้เป็นที่รักยิ่งของฉัน จงอดทนเถิด (อีกไม่นานแล้ว) ไม่ทันพบค่ำ ที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์จะให้น้ำดื่มแก่เจ้าด้วยแก้วน้ำ (จากมือ) ท่านเอง” (28)
แน่นอนยิ่ง จำเป็นต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นอย่างมากสำหรับบุคคลที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกน้อยที่ยังเป็นเยาวชนของตนเองออกไปสู่ความตายและการเป็นชะฮีด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กหนุ่มเยี่ยงท่านอะลีอักบัร ผู้ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงกับท่านศาสนทูตแห่ง
อัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ในทุกๆ ด้าน
(ง) ในช่วงเวลาที่ท่านมายังค่ายพักของเหล่าสตรี และกล่าวขึ้นว่า “โอ้ซะกีนะฮ์ โอ้ฟาฏิมะฮ์ โอ้ซัยนับ โอ้อุมมุกุลซูม ฉันเองก็ต้องขอกล่าวอำลาด้วยเช่นกัน” บรรดาสตรีและเด็กๆ ต่างเริ่มร้องไห้ด้วยเสียงที่อื้ออึง ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับซะกีนะฮ์ว่า
يا نور عينی... فاصبری علی قضاء الله ولا تشكی فان الدنيا فانية والآخرة باقية
“โอ้ แก้วตาดวงใจของฉัน... เจ้าจงอดทนต่อกำหนด (กอฎออ์) ของอัลลอฮ์เถิด และอย่าได้โอดครวญใดๆ เลย เพราะแท้จริงโลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน และโลกหน้านั้นคือสิ่งที่คงทนถาวร” (29)
(จ) ตัวอย่างสุดท้ายจากภาพฉายแห่งความอดทนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) :
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เปรียบประหนึ่งเหล็กที่ผ่านการหล่อหลอม และเป็นมีดที่ได้ผ่านการลับจนคมกริบแล้ว ไม่ว่าท่านจะเผชิญกับการทดสอบและความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) มากขึ้นเท่าใด ความเงางามและความใสสว่างก็ปรากฏเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ฮะมีด บินมุสลิมได้เล่าว่า :
ฉันมองเห็นฮุเซน (อ.) ในช่วงเวลาที่หนักหน่วงและยากลำบากที่สุดในสงครามในวันอาชูรอ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันไม่เคยพบเห็นบุรุษคนใดที่เมื่อประสบกับความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) และการสูญเสียลูกหลาน เครือญาติและบรรดาสหายผู้ใกล้ชิดของตนเองถูกสังหารต่อหน้าต่อตา แต่ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมอารมณ์ มีความมั่นคงและมีหัวใจที่แข็งแกร่งมากไปกว่ามหาบุรุษผู้มีเกียรติท่านนี้ เลย เมื่อบรรดานักรบเดินเท้าเข้าจู่โจมไปหาท่าน ท่านกลับโจมตีสวนกลับไปยังพวกเขาจนทำให้พวกเขาต้องหนีกระเจิงออกไปทางด้าน ขวาและด้านซ้าย ประหนึ่งดั่งฝูงสุนัขจิ้งจอกที่เตลิดหนีจากราชสีห์ (30) ในช่วงเวลาที่ท่านอิมาม (อ.) ฟุบลงสู่พื้นดิน และอยู่ในช่วงลมหายใจสุดท้ายแห่งอายุขัยของท่านนั้น ท่านได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่และความอดทนอดกลั้นของตน ด้วยกับประโยคต่างๆเหล่านี้ คือ
صبرا علی قضائك لااله سواك يا غياث المستغيثين ولا معبود غيرك، صبرا علی حكمك
“ข้า พระองค์อดทนต่อกำหนด (กอฎออ์) ทั้งหลายของพระองค์ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ โอ้ ผู้ทรงให้การช่วยเหลือต่อบรรดาผู้ขอความช่วยเหลือทั้งหลาย และไม่มีผู้ที่คู่ควรต่อการเคารพภักดีใดๆ นอกจากพระองค์ ข้าพระองค์ขออดทนต่อการตัดสินชี้ขาดของพระองค์” (31)
อ้างอิง
(1) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 71, หน้า 93
(2) ซูเราะฮ์ลุกมาน : อายะฮ์ที่ 17
(3)-ซูเราะฮ์ฆอฟิร : อายะฮ์ที่ 55
(4) ซูเราะฮ์อัลอัศร์ : อายะฮ์ที่ 3
(5) ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ : อายะฮ์ที่ 55
(6) ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน : อายะฮ์ที่ 146
(7) ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ : อายะฮ์ที่ 153
(8) ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ : อายะฮ์ที่ 45
(9) ซูเราะฮ์อันนะห์ลุ : อายะฮ์ที่ 96.
(10) ซูเราะฮ์อัลอังกะบูต : อายะฮ์ที่ 58
(11) ซูเราะฮ์อัซซุมัร : อายะฮ์ที่ 10
(12) อัลมะฮัจญะตุลบัยฎออ์, เล่มที่ 7 , หน้า 17
(13) ฆุร่อรุลฮิกัม, ฮะดีษที่ 765
(14) ฆุร่อรุลฮิกัม, ฮะดีษที่ 3713
(15) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 70, หน้า 183 และเล่มที่ 71, หน้าที่ 67 และ 92 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 2, หน้า 903
(16) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้า 93 ; อัลวาฟี, เล่มที่ 4, หน้า 340 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 24, หน้า 216 และเล่มที่ 71, หน้า 80 และ 84
(17) มุนตะค็อบมีซานุลฮิกมะฮ์, มุฮัมมะดี เรย์ชะฮ์รี, หน้าที่ 287, ฮะดีษที่ 3439
(18) อ้างอิงเดิม, หน้า 487, ฮะดีษที331 ; อัลมุอ์ญะมุลกะบีร, เล่มที่ 3, หน้า 131 ; กันซุลอุมมาล, มุตตี ฮินดี, เล่มที่ 3, หน้า 300
(19) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 68, หน้า 90, ฮะดีษที่ 44
(20) ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.), หน้า 120 ; อันซาบุลอัชรอฟ, เล่มที่ 3, หน้า 151, ฮะดีษที่ 13
(21) ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.), หน้าที่ 135, ฮะดีษที่ 82 ; อันซาบุลอัชรอฟ, เล่มที่ 3, หน้า 150 , ฮะดีษที่ 10
(22)อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 302, ฮะดษที่ 3 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 174 ; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.), หน้าที่ 483- 486
(23) ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.), หน้า 44 ; ยะนาบีอุลมะวัดดะฮ์, หน้า 406
(24) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 329 ; อัลอะวาลิม, เล่มที่ 17, หน้า 179 ; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซ(อ.), หน้า 570
(25) อัลลุฮูฟ, ซัยยิดอิบนุฏอวูซ, หน้า 26 ; กัชฟุลฆุมมะฮ์, อัรดิบิลี, เล่มที่ 2, หน้า 29 ; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.), หน้า 274
(26) มะอานิลอัคบาร, ซุดูก, หน้า 288 ; กามิลุซซิยาร๊อต, หน้า 37 ; อิซบาตุลวะซียะฮ์, หน้า 139 ; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซ(อ.), หน้า 282, ฮะดีษที่ 185
(27) อัลเมาซูอะฮ์, หน้า 469 ; ยะนาบีอุลมะวัดดะฮ์, หน้า 415 ; นาซิคุตตะวารีค, เล่มที่ 2, หน้า 331
(28) มะกอติลุตตอลิบีน, หน้า 115 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 45 ; อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 607 ; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮุเซน (อ.), หน้า 462
(29) นาซิคุตตะวารีค, เล่มที่ 2, หน้า 360 ; อัซรอรุชชะฮาดะฮ์, ดัรบันดี, หน้า 423 ; อัลเมาซูอะฮ์, หน้า 409 ตัรญุมะฮ์ อิรชาด, เชคมุฟีด, หน้า 616 ; อัลลุฮูฟ, หน้า 119
(30) ตัรญุมะฮ์ อัลอิรชาด, เชคมุฟีด หน้า 616; อัลลุฮูฟ, หน้า 119
(31) อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 610
แปลและเรียบเรียงโดย เชคมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ
source : alhassanain