เทววิทยาอิสลาม บทที่ 3
การยึดถือปฏิบัติตามในด้านหลักศรัทธา
คัมภีร์อัลกุรอานได้วางมาตรการความศรัทธาภายใต้พื้นฐานของการใช้สติปัญญาและเหตุผล
อัลกุรอานต้องการให้มนุษย์เริ่มจากการใช้ปัญญา เพื่อไปให้ถึงยังการมีศรัทธา
อัลกุรอานถือว่า การศรัทธาและการเชื่อในสิ่งที่จำเป็นต้องยึดมั่นศรัทธาโดยการยึดถือปฏิบัติตามผู้อื่น(ตะอับบุด)เพียงอย่างเดียวไม่เป็นการเพียงพอ
ฉะนั้น เรื่องที่เกี่ยวกับพื้นฐานของศาสนา จำเป็นที่จะต้องค้นคว้าด้วยวิธีการทางตรรกะและพิสูจน์ทางเหตุผล เช่น เรื่องการมีอยู่จริงของพระเจ้า เตาฮีด หลักเอกานุภาพของพระเจ้า
และปัญหาเหล่านี้ ต้องผ่านกระบวนการคิดด้วยเหตุผลทางปัญญา และก็เช่นเดียวกันปัญหาเรื่องการเป็นศาสดาของนบีมุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)
การหันมายอมรับอิสลามของชนเผ่าต่างๆและหัวหน้าชนเผ่าตามหัวเมืองต่างๆในคาบสมุทรอาหรับนั้น
ทั้งหัวหน้าชนเผ่าและลูกเผ่าได้เข้ามารับอิสลามพร้อมกับกระบวนทัศน์ทางความคิดและมุมมองโลกทัศน์ของพวกเขาที่ค่อนข้างจะสลัดทิ้งยากทีเดียว เพราะว่า แต่ละชนเผ่านั้นมีความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองสูงมาก
ดังนั้น การอยู่ร่วมกันของบรรดามุสลิมกับผู้นำศาสนาอื่นๆในสังคมเดียวกัน เช่น กับชาวยิว ชาวคริสต์ พวกบูชาไฟ พวกบูชาดวงเดือนดวงดาวนั้นอยู่ในลักษณะของการปรองดองและมีการสนทนาทางวิชาการระหว่างศาสนากันบ้าง
และในแวดวงของบรรดามุสลิมและสำนักคิดทั้งหลายก็มีการวิพากษ์และวิภาษกันพอสมควร จนทำให้มีการเกิดสำนักคิดขึ้นตามมา และหนึ่งจากสำนักคิดที่เกิดขึ้นนั้นมีนามว่า ซะนาดีเกาะฮ์ - زنادقة (ซินดี๊ก = เอทิสต์)
พวกเอทิสต์ หมายถึง ผู้ที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นอศาสนิก หรือเป็นศาสนิกที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ก็ตาม
Atheist มาจาก A- แปลว่าไม่ รวมกับ Theo แปลว่าเทพ; Theo ดังนั้น ถ้าไม่นับถือศาสนา และไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ก็เป็นเอทิสต์ เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อต่อต้านการมีศาสนาไม่ยอมรับการมีอยู่ของศาสนาใดๆ
เนื่องจากการเมืองในยุคที่ผู้ปกครองแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ได้สนับสนุนความมีเสรีภาพของมนุษย์ในทางความคิด จึงเป็นโอกาสแก่ประชาชนให้ใช้ความคิดและเลือกเดินเส้นทางตามที่ตนเห็นด้วย ตราบเท่าที่ประชาชาคนนั้นหรือกลุ่มนั้นไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง
และการเข้ามาของศาสตร์ด้านปรัชญา สู่โลกอิสลามตามลำดับ ถือว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ก่อให้เกิดข้อสงสัย ปัญหาและคำถามขึ้นมาอย่างมากมาย
จนเป็นเหตุให้ จำเป็นต้องค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อขั้นพื้นฐาน รวมทั้งก่อให้เกิดความรู้สึกที่จะต้องปกป้องศาสนาของตนในสังคมมุสลิมมากขึ้น
จนในที่สุดช่วงสมัยศตวรรษที่สองแห่งฮิจเราะฮ์ ศตวรรษที่สาม และศตวรรษที่สี่ จึงได้กำเนิดนักวิชาการนักปราชญ์ด้านเทววิทยาอิสลามคนสำคัญๆอย่างมากมายทีเดียว
ปัญหาแรกทางเทววิทยาอิสลาม
โดยผิวเผินแล้วปัญหาที่ถูกนำมาถกเถียงตอบโต้และวิภาษกันจนนำไปสู่วิวาทะอย่างแพร่หลายในสังคมมุสลิมคือเรื่องหลักเสรีภาพ(อิคติยาร)และการกำหนดกระทำของมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้วที่ต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและมีความสัมพันธ์กับชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกคน
มันเป็นประเด็นที่น่าสนใจของทุกคน ที่บรรลุภาวะทางความคิดแล้ว อาจพูดได้ว่า ไม่มีสังคมใดในระดับชนชั้นปัญญาชน ที่ไม่ได้นำปัญหานี้มากล่าวถึง
อีกเหตุผลคือ เนื่องจากคัมภีร์อัลกุรอานเองมีโองการ(อายะฮ์)ที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างมากมายหลายโองการ
เป็นการชี้นำสติปัญญาให้พิจารณาถึงปัญหานี้อย่างละเอียด
นอกจากนี้ไม่มีเหตุผลใด ที่เราจะค้นคว้าจากแหล่งกำเนิดอื่นอีกนอกเหนือจากสังคมอิสลาม
เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของบรรดานักบูรพาคดีที่จะปฏิเสธแหล่งที่มาพื้นฐานของศาสตร์สาขาต่างๆในโลกอิสลาม
และพวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่สามารถจะทำได้ เพื่อที่จะให้เห็นว่าศาสตร์ต่างๆที่มีต้นกำเนิดในสังคมมุสลิมนั้น แท้ที่จริงแล้วมาจากโลกภายนอก มาจากต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากคริสตจักรหรือคริสต์ศาสนา
เพราะเหตุนี้เองพวกเขาพยายามทุกวิธีการเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะสร้างความเชื่อว่า ความเป็นมาของวิชาการอิสลามนั้นก็มาจากภายนอก มาจากแหล่งศาสนาอื่น
ดั่งที่พวกเขาได้พยายามโฆษณาว่า สาขาวิชาด้านรหัสยวิทยา ปรัชญา และนิรุกติศาสตร์ ของพวกมุสลิมนั้นได้มาจากคนต่างชาติ ไม่ใช่เป็นศาสตร์บริสุทธิ์ของอิสลาม
ประเด็นปัญหาเรื่องเสรีภาพและการกำหนด และประเด็นในเรื่องกฎการกำหนดสภาวะถือว่าเป็นประเด็นปัญหาสำคัญมาก
หมายความว่า เป็นประเด็นแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
ถ้ามองในมุมด้านความสัมพันธ์กับพระเจ้า ที่พระองค์ทรงให้สิทธิเสรีภาพแก่มนุษย์หรือไม่อย่างไร
ส่วนเรื่องความยุติธรรมวางอยู่ระหว่างสองประเด็นนี้ คือว่าด้วยเรื่องเจตจำนงเสรีและการกำหนด
เพราะว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีเรื่องการบังคับกับการกดขี่นั้นถือว่าเป็นความขัดแย้งในหลักยุติธรรมของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง
อีกนัยหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีเสรีภาพและความยุติธรรมของพระเจ้าที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งทีเดียว
การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความยุติธรรมของอัลเลาะฮ์ จะนำเข้ามาพูดคุยในหมวดหัวข้อ”ความดีและความชั่ว ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าด้วยปัญญา”
และปัญหานี้จะนำประเด็นย่อยอื่นๆเข้ามาพูดคุยอีก ว่าด้วยเรื่องหลักสติปัญญาและภาวะความเป็นอิสระของปัญญา และทั้งหมดของประเด็นปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขและแก้โจทย์ได้
อยู่ในปัญหาเรื่อง ฮิกมะตุลเลาะฮ์ - วิทยปัญญาของอัลเลาะฮ์(Wisdom of God)
กล่าวคือ การมีเป้าหมายและฮิกมัตของอัลเลาะฮ์ เป็นการตอบโจทย์ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมัน
ต่อมามีประเด็น เตาฮีด อัฟอาลี คือเอกภาพของพระเจ้าในด้านการกระทำ และปัญหา เตาฮีด ของบรรดาซีฟัต -คุณลักษณะของพระองค์ มาตามลำดับ
เราจะกล่าวถึงเรื่องนี้ในตอนต่อไป
การเกิดประเด็นปัญหาด้านหลักศรัทธาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนในช่วงต่อมาได้มีพัฒนาการขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเริ่มเข้ามาสู่ปัญหาทางปรัชญามากขึ้น เช่นปัญหาเรื่อง
ภวันต์ (- موجود entity)สิ่งที่มีอยูและสารัตถะของภวันต์ และปัญหาเรื่องสสารและองค์ประกอบของสสาร และปัญหาความคงว่าง สูญญากาศ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ
เนื่องมาจากว่า นักวิชาการด้านเทววิทยา มองปัญหาเหล่านี้ว่า เป็นบริบททางการวิวัฒนาการสำหรับปัญหาอื่นๆที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อขั้นพื้นฐานของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปฐมเหตุและปฐมเหตุสุดท้าย
ฉะนั้นมีประเด็นปัญหาจำนวนมากที่อยู่ในขอบข่ายของวิชาปรัชญา แต่ถูกนำมาใช้ในวิชาเทววิทยาอิสลามเพื่อเกื้อกูลและสนับสนุนด้านเทววิทยา
ดังนั้นเทววิทยาอิสลาม(วิชาเตาฮีด)และวิชาปรัชญามีจึงประเด็นปัญหาร่วมกันมากมาย หากบุคคลใดศึกษาตำราด้านเทววิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่ถูกเรียบเรียงในศตวรรษที่เจ็ดเป็นต้นมา จะพบว่าประเด็นปัญหาทางด้านหลักศรัทธาส่วนใหญ่ คือปัญหาที่บรรดานักปรัชญาได้นำมาพูดคุยและแจกแจงไว้ในตำราของพวกเขา
ปรัชญาและเทววิทยาอิสลาม จึงเป็นวิชาที่ส่งผลซึ่งกันและกันอย่างมาก และเกื้อกูลกันและกัน จะเห็นได้ว่าเทววิทยาอิสลามบังคับให้วิชาปรัชญานำบางปัญหามาวิภาษและเป็นทฤษฎีขั้นพื้นฐานในการพิสูจน์หลักเทววิทยา
วิชาปรัชญาจำเป็นต้องยอมรับการขยายขอบเขตของเทววิทยาอิสลามให้มากขึ้น
จำเป็นที่จะต้องนำบางประเด็น บางปัญหาทางปรัชญา มาวิจักษ์(ทำความเข้าใจ)และวิธาน(มาจัดการ)
เทววิทยาอิสลาม หรือ วิชาเตาฮีด หรือวิชา อิลาฮียาต นี้ จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการ
บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ