ความไว้วางใจ และ ความยุติธรรมในอิสลาม
โดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
คุณลักษณะทางด้านจริยธรรมที่สำคัญสองประการที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องมี และถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การดำเนินชีวิตและสัมพันธภาพทางสังคมของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยความดีงามและมีความสงบสุข นั่นก็คือ
1. การรักษาอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย และ
2. การรักษาความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ในการตัดสินต่างๆ ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ดังที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงตรัสว่า
إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُكُمْ أَن تُؤَدُّوا الْأَمَانَاتِ إِلَىٰ أَهْلِهَا وَإِذَا حَكَمْتُم بَيْنَ النَّاسِ أَن تَحْكُمُوا بِالْعَدْلِ إِنَّ اللَّهَ نِعِمَّا يَعِظُكُم بِهِ إِنَّ اللَّهَ كَانَ سَمِيعًا بَصِيرًا
"แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้พวกท่านปฏิบัติตามความไว้วางใจทั้งหลายของเจ้าของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จงตัดสินด้วยความยุติธรรมเถิด แท้จริงช่างดีงามเสียนี่กระไร ที่อัลลอฮ์ทรงตักเตือนพวกเจ้าในสิ่งนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ทรงได้ยินอีกทั้งทรงมองเห็น" (1)
คำว่า "อะมานะฮ์" (ของฝากให้ช่วยดูแลหรือความไว้วางใจ) มีความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกๆ ความไว้วางใจที่มนุษย์มอบให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ในสิ่งที่เป็นวัตถุหรือไม่ใช่วัตถุ (เช่นเรื่องราวที่ขอให้ปกปิดเป็นความลับ) และตามคำชี้ชัดของโองการนี้มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องรักษาและปฏิบัติตามอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) โดยไม่มีสิทธิ์บิดพลิ้ว ไม่ว่าเจ้าของ (ผู้ฝาก) อะมานะฮ์นั้นจะเป็นมุสลิมหรืไม่ใช่มุสลิมก็ตาม และไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคนดีมีคุณธรรมหรือจะเป็นคนชั่วก็ตาม
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า
لا تَـخُـنْ منْ ائتمنك وإنْ خانك ، ولا تُـذعْ سِرَّه وإنْ اذاع سرّك
"ท่านจงอย่าบิดพลิ้วต่อบุคคลที่ไว้วางใจในตัวท่าน ถึงแม้เขาจะบิดพลิ้วท่านก่อนก็ตาม และจงอย่าเปิดเผยความลับของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะเปิดเผยความลับของท่านก่อนก็ตาม"(2)
ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า
ثلاث لم یجعل اللَّه عزّ و جلّ لِأحدٍ فیهنّ رخصةً: أداء الأمانة الى البرّ والفاجروالوفاء بالعهد للبرّ و الفاجر و برّ الوالدین برّین كانا أو فاجرین
"สามสิ่งที่อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ไม่ทรงกำหนดข้อผ่อนปรนแก่ผู้ใดในสิ่งเหล่านั้นเลย นั่นคือ หนึ่ง การปฏิบัติตามความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) ทั้งต่อคนดีและคนชั่ว สอง การรักษาคำมั่นสัญญาทั้งต่อคนดีและคนชั่ว และสาม การปฏิบัติดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองไม่ว่าบุคคลทั้งสองจะเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่วก็ตาม" (3)
และท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า
انّ ضارب علي(ع) بالسّيف و قاتله لو ائتمنني و استنصحني وا ستشارني ثم قبلت منه ذلك لأدّيت اليه الامانة
"แท้จริงผู้ที่ฟันท่านอะลีด้วยดาบและสังหารท่าน หากเขาได้มอบหมายความไว้วางใจต่อฉัน ขอให้ฉันแนะนำตักเตือนและขอคำปรึกษาหารือจากฉัน โดยที่ฉันได้ตอบรับสิ่งเหล่านั้นต่อเขา แน่นอนยิ่งฉันย่อมจะต้องปฏิบัติตามความไว้วางใจต่อเขา"(4)
ในความเป็นจริงแล้วโองการอัลกุรอ่านข้างต้น และบรรดาฮะดีษ (วจนะ) เหล่านี้ คือคำแถลงการณ์หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งของอิสลาม ที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในเรื่องของอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ที่จะต้องได้รับการพิทักษ์รักษาและปฏิบัติตาม ในเรื่องของ "อะดาละฮ์" หรือการมีความยุติธรรมในการตัดสินก็เช่นเดียวกัน เป็นกฎเกณฑ์สากลอย่างหนึ่งที่ครอบคลุมทุกๆ การตัดสินและการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตหรือเรื่องเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม
ในตัวอย่างของคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งที่กล่าวว่า : วันหนึ่งเด็กสองคนได้มาหาท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) เพื่อให้ช่วยตัดสินลายมือในการเขียนหนังสือของพวกเขาว่าของใครสวยกว่ากัน ท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงพูดกับลูกชายของตนในทันที่ทันใดว่า
يٰا بُنَیَّ اُنْظُر کَيْفَ تَحْکُمُ فَإنَّ هذا حُکْمٌ وَالله ُسائِلُكَ عَنْهُ يَوْمَ القِيٰامَةِ
"โอ้ลูกรัก! จงพิจารณาให้ดีว่าเจ้าจะตัดสินอย่างไร เพราะแท้จริงสิ่งนี้ก็คือการตัดสินอย่างหนึ่ง และอัลลอฮ์จะทรงสอบถามเจ้าเกี่ยวกับมันในวันกิยามะฮ์" (5)
กรณีลักษณะเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นเสมอในการดำเนินชีวิตของเรา เช่น เพื่อนสองคนของเราเกิดทะเลาะกันหรือมีข้อพิพาทกัน เยาวชนหรือลูกๆ ของเราที่มีเรื่องกับลูกๆ ของคนอื่น หรือแม้แต่ตัวเราเองเมื่อมีกรณีพิพาทและขัดแย้งไม่ลงรอยกับผู้อื่น จะต้องมองปัญหาและตัดสินด้วยความยุติธรรม แน่นอนยิ่งว่าในการใช้ชีวิตร่วมกันแบบสังคม ย่อมมีการกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและการตัดสินที่มีความยุติธรรมและไม่ลำเอียง โดยจะต้องไม่คำนึงถึงตัวเองและพวกพ้องของตนว่าสำคัญกว่า
เกี่ยวกับความสำคัญของการรักษาความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) และการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น มีฮะดีษ (วจนะ) จากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ตัวอย่างเช่น ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า
لاتنظروا الى طول ركوع الرجل و سجوده ، فان ذلك شى ء اعتاده فلو تركه استوحش لذلك و لكن انظروا الى صدق حدیثه و اداء امانته
"ท่านทั้งหลายจงอย่าพิจารณาเพียงแค่การรุกูอ์และการซุญูดที่ยาวนานของคน เพราะสิ่งนั้นสามารถฝึกฝนจนกลายเป็นความเคยชิดได้ โดยที่หากเขาละทิ้งมันจะทำให้รู้สึกเป็นกังวล แต่ทว่าพวกท่านจงพิจารณาคนที่ความสัจจริงในคำพูดของเขา และการรักษาอะมานะฮ์ของเขา" (6)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
للمنافق ثلاث علامات، اذا حدث کذب، واذا وعد اخلف، واذا ائتمن خان
"เครื่องหมายของผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) มีสามประการคือ เมื่อเขาพูดเขาก็พูดโกหก และเมื่อเขาสัญญาเขาก็ละเมิดสัญญา และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจเขาก็บิดพลิ้ว" (7)
อย่างไรก็ดี อะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของทรัพย์สินที่มนุษย์มอบหมายและฝากไว้ให้ดูแลรักษาเพียงเท่านั้น วิชาความรู้ที่ผู้รู้ (อาลิม) มีอยู่ก็ถือเป็นอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) อย่างหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ หากปิดบังและไม่ยอมสั่งสอนแก่ผู้อื่นก็นับว่าเป็นการบิดพลิ้วต่ออะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ที่ได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน หน้าที่ของพ่อแม่นั้นไม่ใช่แค่เพียงเลี้ยงดูลูกๆ ให้เจริญเติบโตเฉพาะด้านร่างกายเท่านั้น แต่อะมานะฮ์ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การให้อาหารทางจิตวิญญาณแก่ลูกๆ อันได้แก่การอบรมสั่งสอนและการขัดเกลาพวกเขาให้มีความรู้ในศาสนาและมีจริยธรรมตามแบบอิสลาม ชีวิต อายุขัย พละกำลังและสุขภาพร่างกาย รวมทั้งอวัยวะทุกๆ ส่วนในร่างกายของคนเรา ก็คือคืออะมานะฮ์จากพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องระวังรักษาและใช้มันไปอย่างระมัดระวังในหนทางที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้วก็ถือเป็นการบิดพลิ้วต่ออะมานะฮ์เช่นกัน ตัวอย่างของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญของความยุติธรรม (อะดาละฮ์)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
عَدْلُ سَاعَةٍ خَيْرٌ مِنْ عِبَادَةِ سِتِّينَ سَنَةً ، قِيَامَ لَيْلِهَا ، وَصِيَامَ نَهَارِهَا ، وَ جَوْرُ سَاعَةٍ فِي حُكْمٍ أَشَدُّ وَأَعْظَمُ عِنْدَ اللَّهِ مِنْ مَعَاصِي سِتِّينَ سَنَةً
"การดำรงความยุติธรรมเพียงชั่วโมงเดียว ดีกว่าการทำอิบาดะฮ์ถึงเจ็ดสิบปีด้วยการนมาซในยามค่ำคืนและการถือศีลอดในช่วงกลางวันของมัน และความอธรรมเพียงชั่วโมงเดียวในการตัดสินนั้นเป็นสิ่งที่ร้ายแรง ณ อัลลอฮ์ ยิ่งกว่าการละเมิดฝ่าฝืนต่างๆ ถึงเจ็ดสิบปี"(8)
นี่คือส่วนหนึ่งจากโองการอัลกุรอานและบรรดาคำรายงาน (ริวายะฮ์) ของอิสลามที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) และอะดาละฮ์ (ความยุติธรรม) ต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดสิน และกฎเกณฑ์สำคัญทั้งสองประการนี้คือรากฐานของสังคมที่สงบสุขของมนุษย์ สังคมใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นสังคมของผู้ศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือไม่ว่าจะเป็นสังคมของพวกวัตถุนิยม หากปราศจากการดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งสองประการนี้แล้ว สังคมนั้นก็ไม่อาจพบกับความสงบสุขได้อย่างแน่นอน กล่าวคือ เมื่อบุคคลในสังคมขาดอะมานะฮ์ความไว้วางใจซึ่งกันและกันและขาดความยุติธรรม การพิทักษ์รักษาสิทธิต่างๆ ที่ถูกต้องชอบธรรมของบุคคลในสังคมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
แหล่งที่มา :
(1) ซูเราะฮ์อันนิซาอ์/อายะฮ์ที่ 58
(2) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 345
(3) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 344
(4) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 345
(5) มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 3, หน้า 64
(6) นูรุษษะกอลัยน์, เล่มที่ 1, หน้า 496
(7) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 10, หน้า 153
(8) มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 6, หน้า 79
ขอขอบคุณเว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาอิสลามและการพัฒนา