ไทยแลนด์
Sunday 24th of November 2024
0
نفر 0

ดุอาอ์ คืออาวุธของปวงศาสดา

ดุอาอ์  คืออาวุธของปวงศาสดา

 

ได้มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

عَلَيْكُمْ بِالدُّعَاءِ فَإِنَّكُمْ لَا تَقَرَّبُونَ بِمِثْلِهِ

 

"ท่านทั้งหลายจงให้ความสำคัญต่อดุอาอ์ เพราะไม่มีอะไรที่พวกท่านจะเข้าใกล้ชิด (พระผู้เป็นเจ้า) ได้เหมือนดั่งดุอาอ์" (1)

 

      ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่ง ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวกับบรรดาสาวกของท่านว่า :

 

عَلَيْكُمْ بِسِلَاحِ الْأَنْبِيَاءِ. فَقِيلَ: وَ مَا سِلَاحُ الْأَنْبِيَاءِ؟ قَالَ: الدُّعَاءُ

"ท่านทั้งหลายจงใช้อาวุธของบรรดาศาสดาเถิด!" มีผู้ถามว่า : "อาวุธของบรรดาศาสดา (อ.) คืออะไร?" ท่านกล่าวว่า : "ดุอาอ์" (2)

 

      ข้อแนะนำในการปฏิบัติสั้น ๆ  ที่รับรู้ได้จากคำรายงานนี้ก็คือ มนุษย์เราอยู่ในการต่อสู้ และในการต่อสู้นี้ก็จำเป็นต้องมีอาวุธ  หากในสนาม “ญิฮาด อัซฆัร” (การต่อสู้เล็ก) หมายถึงการต่อสู้กับศัตรูภายนอกนั้น เราจำเป็นต้องมีอาวุธจากชนิดของเหล็ก (อย่างเช่น ดาบหรือปืน)  แต่ในสนามของ “ญิฮาด อักบัร” (การต่อสู้กับศัตรูด้านใน) อาวุธของมันคือ การขอดุอาอ์และการร่ำไห้วอนขอพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นที่ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี บินอะบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า ในบทดุอาอ์กุเมลว่า :

 

اِرْحَمْ مَنْ رَأسَ مالِهِ الرَّجاءُ وَ سِلاحُهُ الْبُکاءُ

“(โอ้อัลลอฮ์) โปรดทรงเมตตาผู้ซึ่งต้นทุนของเขา คือความหวัง และอาวุธของเขาคือดุอาอ์ (การวิงวอนขอ)” (3)

 

      ประเด็นที่ว่าในสนามของการต่อสู้นี้ เราจะต่อสู้กับใครนั้น ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า :

 

جَاهِدُوا أَهْوَاءَ كُمْ كَمَا تُجَاهِدُونَ أَعْدَاءَكُم‌

“ท่านทั้งหลายจงต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกท่าน เช่นเดียวกับที่พวกท่านจะต่อสู้กับเหล่าศัตรูของพวกท่าน” (4)

 

      เนื่องจากการต่อสู้ในสมรภูมิ “ญิฮาด อักบัร” นั้น เป็นเรื่องยากกว่าการต่อสู้ในสมรภูมิ “ญิฮาด อัซฆัร”  ดังนั้นเครื่องมือและอาวุธที่จะใช้ จึงจำเป็นจะต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับสมรภูมิดังกล่าว และข้อแนะนำของท่านอิมามริฎอ (อ.) นี้ พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของสนามแห่งการต่อสู้  อาวุธเหล็กและปืนจะใช้เพื่อป้องกันการบุกรุกของศัตรูภายนอก แต่อุอาอ์ การวิงวอนขอและการคร่ำครวญออดอ้อนต่อพระผู้เป็นเจ้า คืออาวุธสำหรับการป้องกันการกบฏและการละเมิดของอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง

 

      ดุอาอ์ไม่ใช่เป็นแค่เพียงอาวุธของปวงศาสดาเท่านั้น แต่ยังเป็นอาวุธของผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ทุกคนด้วยเช่นกัน ดังที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

الدُّعَاءُ سِلَاحُ الْمُؤْمِنِ وَ عَمُودُ الدِّينِ وَ نُورُ السَّمَاوَاتِ وَ الْأَرْضِ

“ดุอาอ์ คืออาวุธของผู้ศรัทธา เป็นเสาหลักของศาสนาและเป็นรัศมีแห่งบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน” (5)

 

      ในที่นี้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า อาวุธของผู้ที่ต้องการจะต่อสู้กับศัตรูด้านในและอารมณ์ใฝ่ชั่วนั้น คือดุอาอ์ ดุอาอ์ซึ่งเป็นเสาหลักของศาสนา ประเด็นนี้และในคำรายงาน (ริวายะฮ์) อื่นๆ ที่ได้ถูกกล่าวในหมวดความเป็นเสาหลักของการนมาซนั้น สามารถสรุปได้ว่า เสาหลักของศาสนา คือการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งบางครั้งจะออกมาในรูปของการนมาซ และบางครั้งในรูปของดุอาอ์

 

      ประเด็นสำคัญก็คือว่า  มนุษย์จะต้องไม่วางอาวุธนี้แม้เพียงชั่วขณะเดียวและเขาจะต้องพกพาอาวุธนี้ไว้ตลอดเวลา เนื่องจากใน “ญิฮาด อักบัร” นั้น ศัตรูเตรียมพร้อมที่จะทำการโจมตีได้ทุกขณะ และหากมนุษย์ปลดอาวุธไปแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปได้ที่ในการต่อสู้นี้เขาอาจจะตกเป็นเชลยศึก หรืออาจจะถูกพิชิตซึ่งผลของมันคือการยอมตามอารมณ์ฝ่ายต่ำที่ชักนำไปสู่ความชั่ว (นัฟซุลอัมมาเราะฮ์) และชัยฏอน

 

      แต่ถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวกับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พระองค์จะทรงนำเขาเข้าอยู่ในป้อมปราการอันมั่นคงแข็งแกร่งของพระองค์ ซึ่งจะทำให้เขาปลอดภัยจากเภทภัยและความเลวร้ายทั้งปวง  เนื้อแท้ของดุอาอ์นั้นไม่ใช่แค่เพียง การวิงวอนขอน้ำ ขออาหารและปัจจัยดำรงชีพ (ริษกี) อันเป็นวัตถุ ทว่าคุณค่าของดุอาอ์ ซึ่งตามสำนวนของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ นั้น คือ “สมองของการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า” ดังที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

الدُّعَاءُ مُخُّ العِبَادَةِ

“ดุอาอ์คือสมอง (สุดยอด) ของอิบาดะฮ์” (6)  

 

      ซึ่งนั้นก็หมายความว่า ดุอาอ์ คือสื่อของการผูกสัมพันธ์ของบ่าวผู้ยากไร้บริสุทธิ์ (ไม่มีอะไรเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง) กับพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่ที่ทรงไร้ที่สิ้นสุด

 

      กล่าวคือ  มนุษย์ผู้เป็นบ่าวจะนำความต้องการของตนไปยังเบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงไร้ซึ่งความต้องการและการพึ่งพาสิ่งใดทั้งปวง ซึ่งในขั้นเริ่มต้นจะเป็นเช่นนี้ และในขั้นตอนถัดไปเขาร่ำไห้รำพันและวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าของตน  ในบทดุอาอ์อัลอิฟติตาห์ซึ่งเป็นหนึ่งในดุอาอ์ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้กล่าวว่า :

 

وَ أَسْأَلُكَ مُسْتَأْنِساً لا خَائِفاً وَ لا وَجِلاً مُدِلَّاً عَلَيْكَ فِيمَا قَصَدْتُ فِيهِ إِلَيْكَ

“และข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยความสนิทชิดเชื้อและด้วย (ความหวัง) โดยไม่หวั่นกลัวใดๆ อีกทั้งในสภาพของผู้มีความกล้าหาญต่อพระองค์ในสิ่งที่ข้าพระองค์มีความมุ่งหวังมันจากพระองค์” (7)

 

      กล่าวโดยสรุปก็คือว่า อาวุธนี้เป็นสิ่งสำคัญและมีคุณประโยชน์ในทุกขั้นตอนของชีวิต เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน และไม่มีใครที่จะไร้ซึ่งความจำเป็นต่อมัน และแม้ว่าชนิดของอาวุธ (วิธีการและสิ่งที่วิงวอนขอ) จะเปลี่ยนไปตามมนุษย์ทั้งหลายก็ตาม แต่ทุกคนล้วนมีความต้องการต่อมันทั้งสิ้น


เชิงอรรถ :

 

1.อัลกาฟี , เล่ม 2 , หน้า 467

2.อัลกาฟี , เล่ม 2 , หน้า 468

3.อัลมิศบาห์ , เชคอัฟกะมี , หน้า 555

4.บิฮารุ้ลอันวาร , อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี , เล่มที่ 65 , หน้าที่ 329

5.อัลกาฟี , เชคกุลัยนี , เล่มที่ 4 , หน้า 301

6.อัลมะฮัจญะตุลบัยฎอฮ์ , เฟฎ กาชานี , เล่ม 2 , หน้า 282

7.มะฟาตีฮุ้ลญินาน , ดุอาอ์ อัลอิฟติตาห์


ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

หลักปฏิบัติในอิสลาม ...
สิทธิมนุษยชนในอิสลาม
ความพอเพียงในอิสลาม
อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) ...
ฮะดีษนี้น่าเชื่อถือหรือไม่? : ...
ศาสดาและวงศ์วานผู้ทรงเกียรติ
ถ้าหากท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ...
สถานภาพสตรีในอิสลาม
วันอีดกุรบาน ...
ยะกีนมีกี่ระดับ?

 
user comment