ปรัชญาแห่งอุปสรรคนานัปการในชีวิตมนุษย์
คำถาม : ความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆในชีวิตมีขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด?
ตอบ: ปัญหาต่างๆในชีวิตมนุษย์แบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน บางปัญหาเกิดจากตัวเราเอง และบางปัญหาก็มิได้เกิดจากเรา
ปัญหามากมายอาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเราเอง สมมุติกรณีที่เราทำธุรกิจ หากเราไม่รอบคอบในการตระเตรียมเอกสารใบสัญญาต่างๆ ไม่มีการค้ำประกัน ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ถ้าหากเราจะต้องขาดทุนและปิดกิจการ นั่นเป็นความผิดของเราเองมิไช่ใครอื่น
ถ้าหากเราไม่ล้อมรั้วรอบบ้าน แล้วเกิดมีหัวขโมยเข้ามาฉวยทรัพย์สินภายในบ้าน ในกรณีเหล่านี้แน่นอนว่าเราไม่สามารถโทษผู้อื่นได้
หากเราไม่ระมัดระวังสุขภาพของตนเอง แล้วล้มป่วยในภายหลัง ย่อมไม่สามารถโทษผู้อื่นได้
หากเราไม่ปฏิบัติตามมารยาททางสังคม แล้วถูกตำหนิในภายหลัง ย่อมเกิดจากความบกพร่องของเราเอง
ส่วนปัญหาและอุปสรรคประเภทที่สอง(ปัญหาที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น) มีจุดประสงค์ดังต่อไปนี้
1. บางครั้งปัญหาและความยากลำบากมีจุดประสงค์เพื่อให้เรารีบเร่งปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ในแง่มุมนี้ แน่นอนว่าความขมขื่นของปัญหาซ่อนไว้ซึ่งความหวานชื่นภายใน เพราะการเพิ่มพูนของศักยภาพของเรา หรือการพัฒนาจิตใจให้เหมาะสมกับสรวงสวรรค์ย่อมจะเป็นผลต่อเนื่องตามมา
2. ปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่มาจากพระองค์ อันที่จริงแล้วก็คือการที่พระองค์ปรับในสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิของพระองค์นั่นเอง ถ้าหากมนุษย์คำนึงเสมอว่าพระองค์คือ ฮะกีม (ทรงวิทยปัญญา) และ เราะฮีม (ทรงเอื้ออารีย์) และคำนึงว่าเราเป็นเพียงบ่าวที่พระองค์สร้างจากความว่างเปล่า ("เขามิได้เป็นสิ่งใดมาก่อน" (ซูเราะฮ์มัรยัม/67) และครั้นเมื่อสร้างในครรภ์มารดาแล้ว ขณะนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่อยากกล่าวถึง (สภาวะก้อนเลือด ก้อนเนื้อ..ฯลฯ)ที่ค่อยๆได้รับการพัฒนาโดยพระองค์ ("เขายังมิได้เป็นสิ่งที่น่ากล่าวถึง" (ซูเราะฮ์อินซาน/1)
พระองค์ทรงพัฒนาเราจากสสารสู่สิ่งมีชีวิต และจากสิ่งมีชีวิตสู่สิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ และพัฒนาจากสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้สู่สิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวได้ที่ทรงปัญญา พระองค์ที่ทรงพัฒนาเราเช่นนี้ ย่อมมิได้มีเจตนาจะหยุดยั้งพัฒนาการของเราด้วยอุปสรรคที่ประสบกับเราอย่างแน่นอน ทว่าอุปสรรคนั้นย่อมมีผลต่อพัฒนาการของเรา เสมือนข้าวสาลีธรรมดาๆที่ถูกหินโม่บดเป็นผง แล้วนำไปอบกับไฟ กระทั่งข้าวสาลีธรรมดาๆกลายเป็นขนมปังนุ่มที่มีราคาสูงขึ้นอย่างเทียบไม่ได้
3. บางกรณี อุปสรรคและความยากลำบากคือรูปจำแลงของความโปรดปรานของอัลลอฮ์ (เพียงแต่เราเองอาจไม่รู้ในเบื้องแรก) ดังที่กุรอานกล่าวว่า "เพื่อพวกเขาอาจโอดครวญ(ยังพระองค์)" การที่เหล็กกล้าอ่อนตัวลงเมื่ออยู่ในเตาถลุงเหล็ก ฉันใดก็ฉันนั้น ความร้อนของอุปสรรคและความยากลำบากก็จะหลอมมนุษย์ที่แข็งกร้าวและทรนงตนให้มีท่าทีอ่อนลงสยบต่อสัจธรรมได้เช่นกัน
4. นอกจากนี้ อุปสรรคหรือความยากลำบาก บางครั้งก็เป็นการไถ่โทษในบาปที่เราเคยกระทำ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับโทษในอะลัมบัรซัค (โลกแห่งสุสาน) และวันอาคิเราะฮ์ (โลกหน้า) เพราะแน่นอนว่า โทษในโลกนี้ย่อมเบากว่าการลงโทษหลังความตายอย่างเทียบกันไม่ได้
คัดจากหนังสืออุปมาอุปมัยในตัฟซีรนู้ร ประพันธ์โดย เชคมุฮ์ซิน กิรออะตี