ไทยแลนด์
Saturday 23rd of November 2024
0
نفر 0

บทเรียนอัลกุรอานจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 110-111-112 บทอัตเตาบะฮ์

บทเรียนอัลกุรอานจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 110-111-112 บทอัตเตาบะฮ์

 

โองการนี้กล่าวถึงความสงสัยคลางแคลงใจในการสร้างฐานอันมั่นคงของบรรดาพวกกลับกลอก โองการกล่าวว่า

 

لَا يَزَالُ بُنْيَانُهُمُ الَّذِي بَنَوْا رِيبَةً فِي قُلُوبِهِمْ إِلَّا أَن تَقَطَّعَ قُلُوبُهُمْ وَاللّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٌ

 

คำแปล :

 

110. อาคารที่พวกเขาได้ก่อสร้างขึ้นมานั้น ยังคงเป็นที่ระแวงสงสัยอยู่ในจิตใจของพวกเขาเสมอ จนกระทั่งหัวใจเหล่านั้นได้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ อัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงพระทรงรอบรู้ พระผู้ทรงปรีชาญาณยิ่ง

 

คำอธิบาย :

 

1.บรรดาพวกกลับกลอกนั้นจะอยู่ท่ามกลางความระหกระเหิน และสงสัยตลอดเวลา แม้กระทั่งศูนย์กลางแห่งการกลับกลอกของพวกเขา เช่น มัสยิดฎิรอร ถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ได้เปลี่ยนกลายเป็นความดื้อรั้น และข้อสงสัยต่างๆ แม้ว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)  จะทำลายมัสยิดและเผาไปแล้วก็ตาม แต่แผนการชั่วร้ายที่เติมเต็มหัวใจของพวกเขา มิได้ถูกทำลายไปด้วย ยังคงอยู่ในใจของพวกเขา

 

2. โองการข้างต้นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าความสงสัยและความไม่แน่นอน คือปัจจัยที่ทำลายบุคลิกภาพของมนุษย์ และจะหลอกลวงพวกเขาไปสู่มิติอันเฉพาะพิเศษ ดังนั้น ข้อสงสัยและความคลางแคลงไม่ต่างอะไรไปจากโรคเรื้อนที่เกาะกินจิตวิญญาณของมนุษย์ และตราบที่ภายในของเขายังไม่แตกสลาย มันก็จะยังไม่เลิกรา

 

แต่ถ้าความสงสัยคือปัจจัยที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวในเชิงของการศึกษาถือว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. ฐานที่มั่นของพวกกลับกลอกจะอยู่กับความสงสัยคลางแคลงตลอดเวลา

 

2 อย่าปล่อยให้ฐานข้อมูลของพวกท่านต้องตกอยู่ท่ามกลางความสงสัย (ทว่าจะต้องสร้างความมั่นใจและเพิ่มพูนความรู้)

 

โองการที่ 111 บทอัตเตาบะฮ์


โองการกล่าวว่า :


إِنَّ اللّهَ اشْتَرَى مِنَ الْمُؤْمِنِينَ أَنْفُسَهُمْ وَأَمْوَالَهُم بِأَنَّ لَهُمُ الْجَنَّةَ يُقَاتِلُونَ فِي سَبِيلِ اللّهِ فَيَقْتُلُونَ وَيُقْتَلُونَ وَعْداً عَلَيْهِ حَقّاً فِي التَّوْرَاةِ وَالْإِنْجِيلِ وَالْقُرْآنِ وَمَنْ أَوْفَى بِعَهْدِهِ مِنَ اللّهِ فَاسْتَبْشِرُوا بِبَيْعِكُمُ الَّذِي بَايَعْتُم بِهِ وَذلِكَ هُوَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ

 

กลุ่มโองการนี้ได้กล่าวแนะนำมวลผู้ศรัทธาเกี่ยวกับการค้าที่มีผลกำไรมากที่สุก พร้อมกับกล่าวถึงผลรางวัลของบรรดานักต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า

 

คำแปล :

 

111. แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรับซื้อจากบรรดาผู้ศรัทธา ชีวิตทั้งหลายของพวกเขาและทรัพย์สมบัติของพวกเขา โดยพวกเขาจะได้รับสรวงสวรรค์เป็นการตอบแทน เนื่องจากพวกเขาได้ต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ พวกเขาจะสังหารและจะถูกสังหาร นี่เป็นสัญญาของพระองค์เองอย่างแท้จริง ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์อัตเตารอต อัลอินญีล และอัลกุรอาน และผู้ใดเล่าจะรักษาสัญญาของเขาให้ดียิ่งไปกว่าอัลลอฮ์ ดังนั้น พวกเจ้าจงยินดีต่อการขายของพวกเจ้า ที่พวกเจ้าได้ค้าขายกับพระองค์ และนั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง


โองการที่ 112 บทอัตเตาบะฮ์


โองการกล่าวว่า


التّائِبُونَ الْعابِدُونَ الْحامِدُونَ السّائِحُونَ الرّاكِعُونَ السّاجِدُونَ الآْمِرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَ النّاهُونَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَ الْحافِظُونَ لِحُدُودِ اللّهِ وَ بَشِّرِ الْمُؤْمِنينَ

 

112. บรรดาผู้กลับเนื้อกลับตัว ผู้แสดงความเคารพภักดี ผู้กล่าวคำสรรเสริญ ผู้เดินทางเพื่อต่อสู้หรือแสวงหาวิชาความรู้ ผู้ก้มรุกุอฺ ผู้กราบสุญูด ผู้กำชับให้ทำความดี ผู้ห้ามปรามให้ละเว้นความชั่ว และบรรดาผู้รักษาขอบเขตของอัลลอฮ์และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาเถิด

 

คำอธิบาย :

 

การค้าขายอันไม่มีที่เปรียบเปรย

 

โองการที่ผ่านมากล่าวถึงผู้ฝ่าฝืนและบ่ายเบี่ยงไม่ออกสงคราม ส่วนในโองการนี้อัลกุรอานกล่าวถึงฐานันดรอันสูงส่งของบรรดานักต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า ด้วยความศรัทธาของพวกเขา

 

1.โองการได้กล่าวถึงสถานภาพของนักต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า และผลรางวัลของพวกเขาไว้อย่างงดงาม ด้วยการยกตัวอย่างการทำการค้าขายเอาไว้ ซึ่งจะเห็นว่าทุกการค้าขายนั้นมีหลักการสำคัญอันเป็นพื้นฐานของการค้าอยู่ 5 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

 

- ผู้ซื้อ โองการกล่าวว่า ผู้ซื้อในที่นี้คือ อัลลอฮ์ ซึ่งแนะนำว่าพระองค์ทรงรับซื้อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ศรัทธา

 

- ผู้ขาย ได้แก่มวลผู้ศรัทธาทั้งหลายที่เป็นนักต่อสู้

 

- สินค้าที่ตกลงทำการค้ากันได้แก่ ชีวิตและทรัพย์สินของมวลผู้ศรัทธา

 

- ราคาสินค้า ได้แก่สรวงสวรรค์อันเป็นราคาที่พระองค์ได้ตกลงและยินดีจ่ายแก่ผู้ขายทุกคน

 

- สัญญาซื้อขายสินค้า ในที่นี้ได้แก่คัมภีร์เตารอต อิลญิล และอัลกุรอาน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาที่มั่นคงที่สุดสำหรับการทำการค้าในที่นี้

 

2. การค้าครั้งนี้นอกจากจะกล่าวถึงสัญญาซื้อขายที่มั่นคงแล้ว ยังได้กล่าวถึงผู้ซื้อคือ อัลลอฮ์ ว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ในสัญญาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าการมีสัญญาซื้อขายทุกฉบับ

 

3. อัลลอฮ์ (ซ.บ.) คือผู้ที่มีความซื่อสัตย์ในสัญญามากที่สุด เนื่องจากพระองค์มีศักยภาพในการจ่ายตามข้อสัญญา และอีกประการหนึ่งพระองค์ไม่มีความต้องการ เพื่อว่าจะได้รับเอาข้อแลกเปลี่ยนของคนอื่น และที่สำคัญพระองค์จะไม่ปฏิบัติสิ่งใดที่ขัดต่อวิทยปัญญา ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าสิ่งแลกเปลี่ยนในการค้าจะเป็นสรวงสวรรค์ก็ตาม แต่สิ่งนั้นก็ไม่มีอันตรายต่อการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

4. สุดท้ายของการค้าขาย ผู้ซื้อได้กล่าวแสดงความดีใจและมอบรางวัลแก่ผู้ขายในฐานะที่ทำการค้าแล้วได้ผลกำไรมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นชัยชนะอันใหญ่หลวง

 

5. โองการข้างต้นแสดงให้เห็นว่านี่เป็นความโปรดปรานที่สุดที่พระเจ้าทรงมอบแก่มนุษย์ เนื่องจากพระองค์คือพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก จึงไม่มีผู้ใดมีอำนาจหรือสิทธิ์เหนือพระองค์ ดังนั้น ความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมอบแก่ปวงบ่าว พระองค์ได้รับซื้อคืนด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว ฉะนั้น การต่อสู้อันเป็นสาเหตุให้มนุษย์ประสบความเจริญ และเป็นชัยชนะของประชาชาติ เนื่องจากเป็นสินค้าที่พระองค์ค้าขายกับมนุษย์

 

6. รายงานจากท่านญาบิร บินอับดุลลอฮฺ อันซอรีย์ ล่าวว่า เมื่อโองการข้างต้นได้ถูกประทานลงมาขณะนั้นท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) อยู่ในมัสยิด ท่านได้อ่านอัลกุรอานเสียงดังหลังจากนั้นประชาชนได้ตักบีร มีชายจากอันซอรคนหนึ่ง ได้เดินมาหาท่านศาสดา แล้วถามท่านศาสดาด้วยความประหลาดใจว่า นี่คือโองการที่ถูกประทานลงมาหรือ

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ตอบว่า ใช่

 

ชายชาวอันซอรกล่าวว่า ช่างเป็นการค้าที่มีผลกำไรมากเหลือเกิน  เราจะไม่ส่งคืน และถ้ากลับไปแล้วถ้าต้องการจากเรา เราก็จะไม่ยอมรับ[1] ในความหมายคือเราจะไม่ยกเลิกการค้า และเราจะไม่ยอมรับการยกเลิกด้วย

 

7. รายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า สำหรับร่างกายของเจ้าไม่มีราคาค่างวดอันใดนอกจากสวรรค์ ดังนั้นเจ้าจงอย่างขายสิ่งนั้นให้น้อยกว่าสวรรค์

 

8. จากโองการเข้าใจได้ว่าคุณค่าของนักต่อสู้และบรรดามุญาฮิดทั้งหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คำสอนของอิสลาม ทว่าในศาสนาของยะฮุดีและคริสต์ก็กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้เช่นกัน

ส่วนอัลกุรอานโองการที่ 112  จะกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ศรัทธา ที่เป็นนักต่อสู้โดยกล่าวว่า

 

1.คำว่า ซาอิฮูน ตามรากศัพท์หมายถึง การเดินทาง หรือความต่อเนื่อง บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอาน (นักตัฟซีร) ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของโองการของต้นไว้ดังนี้

 

- จุดประสงค์ของ ซิยาฮัต หมายถึงการไปๆ มาๆ ระหว่างศูนย์ประกอบอิบาดะฮฺ หรือมัสยิด ดังฮะดีซจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า สถานพักผ่อนของประชาชาติของฉันคือ มัสยิด[2]

 

- จุดประสงค์คือ การถือศีลอด เนื่องจากการถือศีลอดคือการกระทำที่ต่อเนื่องทั้งวัน ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า บรรดาผู้เดินทางคือผู้ถือศีลอด[3]

 

- จุดประสงค์ของ ซิยาฮัต คือการท่องเที่ยว หรือการท่องไปบนหน้าแผ่นดิน

 

- จุดประสงค์ของ ซิยาฮัต คือการเคลื่อนไปสู้การต่อสู้ หรือไปสู่สนามรบ ดังที่รายงานจากท่านศาสดา มุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ซิยาฮัต ของประชาชาติของฉันคือการต่อสู่ในหนทางของพระเจ้า[4]

 

- จุดประสงค์ของ ซิยาฮัต หมายถึง การขับเคลื่อนไปของสติปัญญาและความคิด เกี่ยวกับปัญหาพระเจ้าและโลกแห่งการมีอยู่

 

แน่นอน ความหมายแรกเข้ากันได้มากกว่ากับซิยากของโองการ แต่ไม่เป็นไรถ้าหากจะกล่าวว่าความหมายทั้งหมดเหล่านี้คือ จุดประสงค์ของโองการข้างต้น

                         

2. ระหว่าง 9 คุณลักษณะที่โองการข้างต้นได้กล่าวถึงผู้ศรัทธา จะเห็นว่า 6 ลักษณะแรกเป็นคุณสมบัติของการขัดเกลาตนเองและการอบรมสั่งสอนบุคคล ส่วนคุณลักษณะที่ 7 และ 8  (การกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว) เป็นหน้าที่ทางสังคม และเป็นการขจัดสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีความสะอาดเรียบร้อย          

                    

คุณลักษณะที่ 9 (บรรดาผู้รักษาขอบเขตและปฏิบัติกฎเกณฑ์ของอัลลอฮฺ) เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอิสลาม ที่จะต้องร่วมมือกันในการจัดตั้งและดูแลรัฐอิสลาม ปกป้องประเทศและการเมืองของประเทศ       

                                                 

3. บรรดาคุณลักษณะทั้งหมดตามกล่าวมาถ้าสังเกตจะเห็นว่ากล่าวในรูปกริยาที่เป็น ประธาน เพื่อต้องการบ่งชี้ให้เห็นความแน่นอน กล่าวคือต้องการชี้ให้เห็นว่าความมั่นคงสมบูรณ์เหล่านี้ เป็นที่ยอมรับในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย

 

4. โองการกล่าวถึง การแจ้งข่าวดี ซึ่งเป็นการกล่าวแบบเป็นองค์รวม มีความหมายครอบคลุมกว้าง นั่นหมายความว่าครอบคลุมข่าวที่เป็นข่าวดีและความผาสุกทุกประเภท

 

5. บนพื้นฐานของรายงานบางบทกล่าวว่า จุดประสงค์สำหรับบุคคลที่คุณลักษณะได้ถูกกล่าวไว้ในโองการข้างต้นคือ บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามรายงานเหล่านี้เท่ากับเป็นการอธิบายจุดประสงค์ภายนอกของโองการให้มีความชัดเจน แต่ความเข้าใจของโองการมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่บรรดาอะฮ์ลุลบัยตฺเท่านั้น

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. อัลลอฮ์ (ซ.บ.) คือ ผู้ซื้อสินค้าจากท่าน ดังนั้น เราต้องไม่ขายตัวเองให้กับคนอื่น เนื่องจากการทำการค้ากับพระเจ้านั้นมีผลกำไรมากมาย อีกทั้งมั่นใจได้ในการจ่ายสิ่งตอบแทน

 

2. เป้าหมายของการญิฮาดในอิสลาม คือ การช่วยเหลือในหนทางของพระเจ้า

 

3. สรวงสวรรค์คือรางวัลสำหรับบรรดามุญาฮิดีน (นักต่อสู้ในหนทางของพระเจ้า) ไม่ว่าเขาจะถูกสังหาร หรือมีชีวิตอยู่ก็ตามเขาจะทำลายศัตรู

 

4. บรรดาผู้ศรัทธาที่เป็นมุญาฮิด (นักต่อสู้) ล้วนเป็นชาวสวรรค์ทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องสร้างตัวเองด้วยการแสดงความเคารพภักดี และต้องแสดงความรับผิดชอบเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาสังคม

 

5. ขณะที่บริหารสังคมต้องรู้จักขัดเกลาตนเองควบคู่ไปด้วย เนื่องจากทั้งสองคือความสมบูรณ์ของกันและกัน


อ้างอิง

 

[1]อัดดุรุลมันซูร เล่ม 3 หน้า 280 ดารุลมะอ์มิฟะฮ์ พิมพ์ครั้งแรก 1365, ฟัตฮุลเกาะดีร เชากานีย์ เล่ม 2 หน้า 409 , ตัฟซีร อัลมีซาน เล่ม 9 หน้า 405 พิมพ์ที่ญามิอ์มุดัรริซีน

 

[2] ตัฟซีรอัลมีซาน ตอนอธิบายโองการดังกล่าว มุสตัดร็อก เล่ม 7 หน้า 507 เล่มที่ 8 หน้า 113 เล่ม 14 หน้า 214, อะวาลี อัลลาอี เล่ม 3 หน้า 219

 

[3]ตัฟซีรนูรซะเกาะลัยน์ และตัฟซีรเล่มอื่นๆ มุสตัดร็อก เล่ม 16 หน้า 54 พิมพ์ที่อาลุลบัยต์, บิฮารุลอันวาร เล่ม 66 หน้า 356, กาฟีย์ เล่ม 5 หน้า 15 (ดารุลกุตุบอิสลามียะฮ์) วะซาอิลชีอะฮ์เล่ม 15 หน้า 37 (พิมพ์อาลุลบัยต์)

 

[4]ตัฟซีร อัลมีซาน ตัฟซีรอัลมินาร ตอนอธิบายโองการดังกล่าว วะซาอิลชีอะฮ์ เล่ม 15 หน้า 17 พิมพ์ที่อาลุลบัยต์ มุสตัดร็อกอัลวะซาอิล เล่ม 11 หน้า 14 เล่ม 16 หน้า 53 พิมพ์ที่อาลุลบัยต์ บิฮารุลอันวาร เล่ม 40 หน้า 328

 

 

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

นะบูวะห์ (ตอนที่ 5)
...
อิมามฮุเซนฺ (อ.) คือ ใคร
ซิกรุลลอฮ์ด้วยจิต
...
สาเหตุการกล่าวคำปฏิญาณในอิสลาม
มุนาญาต อัชชากกีน ...
ปรัชญาแห่งอุปสรรคในชีวิต
บันทึกประวัติ “ปาเลสไตน์” ...
มารู้จักอิมามมะฮฺดีย์

 
user comment