เพราะเหตุใดอัลลอฮ์ (ซบ.) จึงทรงสร้างชัยฏอน?
คำถาม
ปรัชญาของการมีชัยฏอน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่หลงผิด ดื้อรั้น และทำให้ผู้อื่นหลงทางคืออะไร และเพราะเหตุใดอัลลอฮ์ (ซบ.) จึงทรงสร้างชัยฏอนขึ้นมา?
ประการแรก: บทบาทของชัยฏอนในการทำให้มนุษย์หลงผิดและหลงทางออกไปนั้น อยู่ในขอบข่ายของการเชิญชวน
ประการที่สอง : ความสมบูรณ์นั้นจะอยู่ท่ามกลางการต่อต้านและสิ่งตรงกันข้าม ด้วยเหตุผลนี้เอง การสร้างสรรพสิ่งเช่นนี้ขึ้นมาในระบบที่ดีงาม มิได้เป็นสิ่งไร้สาระและไร้ความหมายแต่อย่างใด ทว่าถูกนับว่าเป็นรูปโฉมหนึ่งจากความเมตตาและความดีของพระเจ้า
อัลลอฮ์ (ซบ.) มิได้ทรงสร้างชัยฏอนให้เป็นชัยฏอนเช่นที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่าชัยฏอนได้แสดงความเคารพภักดีอัลลอฮ์ (ซบ.) มาอย่างยาวนาน (6 พันปี)[1] เป็นผู้อยู่ร่วมชั้นเดียวกันกับมวลมะลาอิกะฮ์ทั้งหลาย เป็นผู้ดำรงการอิบาดะฮ์ แต่หลังจากนั้นตนได้เลือกสรรด้วยตัวเองตามการดื้อรั้นและอวดดี จึงกลายเป็นผู้หยิ่งผยองและหลงผิดออกไป และออกห่างจากความเมตตาของอัลลอฮ์ (ซบ.)
การมีอยู่ของชัยฏอนไม่ได้สร้างความเสียหายอันใดแก่กลุ่มชนที่มีศรัทธามั่น และบุคคลที่ต้องการแสวงหาความสัจจริง ทว่าชัยฏอนเป็นสื่อในการพัฒนาสร้างความก้าวหน้าแก่พวกเขาเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากความก้าวหน้าและการพัฒนาและความสมบูรณ์ จะอยู่ท่ามกลางความแตกต่างและสิ่งตรงข้ามเสมอ[2]
บทบาทของชัยฏอนบนโลกนี้ คือ การเชิญชวน กล่าวคือ ชัยฏอนเพียงแค่เอ่ยปากเชิญมนุษย์ทั้งหลายในหลงผิด และระหนีไปจากความจริง ทั้งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) มิได้ทรงประทานอำนาจให้ชัยฏอนมีเหนือมนุษย์เลย เพื่อที่ว่าชัยฏอนจะได้ควบคลุมมนุษย์ได้ อัลกุรอาน กล่าวว่า
ان لیس له سلطان علی الذین آمنوا و علی ربهم یتوکلون
แท้จริงชัยฏอนไม่มีอำนาจใด ๆ เหนือบรรดาผู้มีศรัทธา โดยที่พวกเขาได้มอบหมาย (การงาน) ต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา[3]
ด้วยเหตุผลนี้เอง ครั้นเมื่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพได้มาถึง สัญญาต่างๆ ของชัยฏอนที่ได้ทำให้พวกเขาหลงทาง เมื่อได้เผชิญหน้ากันแล้ว ชัยฏอนจะเย้ยหยันมนุษย์และกล่าวว่า
... و ما کان لی علیکم من سلطان الاّ ان دعوتکم...
ฉันไม่มีอำนาจใด ๆ เหนือพวกท่าน นอกจากฉันได้เรียกร้องพวกท่าน[4]
การสั่งสอนตักเตือนของอัลกุรอาน เหมือนกับได้สำทับอยู่เสมอว่า บทบาทของชัยฏอนในการทำให้มนุษย์หลงผิดและระหนไปจากความจริง เพียงแค่เอ่ยปากเชิญมนุษย์เท่านั้นเอง ชัยฏอนไม่เคยบีบบังคับมนุษย์ให้กระทำหรือบังคับให้ระหนีไปจากความจริงแต่อย่างใด แต่เนื่องจากมนุษย์นั้นอยู่ระหว่างสองคำเชิญ คำเชิญหนึ่งมาจากอัลลอฮ์ (ซบ.) และอีกคำเชิญหนึ่งมาจากชัยฏอน และมนุษย์นั่นเองที่ได้เลือกหนึ่งในสองคำเชิญชวนนั้น ด้วยเจตนารมณ์เสรีของตน ซึ่งบุคคลที่ได้ตอบรับคำเชิญของชัยฏอนด้วยเจตนารมณ์และความประสงค์ของตน และมอบให้ชัยฏอนเป็นแบบอย่างของตัวเอง อีกทั้งได้เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของชัยฏอน แน่นอน ชัยฏอนจะมีอำนาจเหนือพวกเขา และจะโน้มนำพวกเขาไปสู่วิบากกรรมและความหายนะทั้งหลาย อัลกุรอานกล่าวว่า
انما سلطانه علی الذین یتولونه...
แท้จริงอำนาจของชัยฏอนจะมีเหนือบรรดาผู้เป็นมิตรกับตน[5]
แหล่งอ้างอิง
[1] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ บทเทศนาที่ 234 กอซิอะฮ์
[2] บิสตูนนีย์ มุฮัมมัด การรู้จักชัยฏอน จากมุมมองของอัลกุรอาน หน้า 17
[3] อัลกุรอาน บทอันนะฮ์ลุ โองการ 99
[4] อัลกุรอาน บทอิบรอฮีม โองการ 22
[5] อัลกุรอาน บทอันนะฮ์ลุ โองการ 100
ขอขอบคุณ เว็บไซต์อิสลามเควสท์